กรุงเทพฯ 26 มิ.ย. – กรณีหลายฝ่ายกังวลว่าคดีอดีตทหารอาสายิงพนักงานเซเว่นฯ เสียชีวิต ก่อนก่อเหตุยิงผู้ป่วยโควิดใน รพ.สนาม ย่านปทุมธานี เสียชีวิตอีก 1 ราย ผู้ต้องหาอาจไม่ต้องรับโทษ เพราะมีปัญหาสุขภาพจิต หรือโรคภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง หรือที่เรียกว่าโรค PTSD ล่าสุดนักกฎหมายและแพทย์ยืนยันว่าผู้ต้องหาคดีนี้ก็ต้องรับโทษ
Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) เป็นภาวะความเครียดทางจิตใจขั้นรุนแรง มักเกิดขึ้นกับคนที่เผชิญเหตุการณ์ หรือภัยร้ายแรงในชีวิต เช่น ภาวะสงคราม เหยื่อในคดีข่มขืน หรือตกเป็นเหยื่อในคดีฆาตกรรมหรือเห็นเหตุการณ์ฆาตกรรม บุคคลในครอบครัว เมื่อได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิด เห็นเลือด หรือหน้าตาคนร้าย จะมีอาการมือไม้สั่น เหงื่อแตก หวาดกลัวอย่างรุนแรง จึงกลายเป็นคนเก็บกด
หากปล่อยไว้นานๆ อาการจะแย่ลงถึงขั้นมีทัศนคติเชิงลบต่อสังคม และมองว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม และจะแย่มากขึ้นอีก ผู้ป่วยเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเอง บางคนอาจใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือคิดว่าเป็นธรรมต่อตัวเองแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่ หากผู้ป่วยคนนั้นเป็นคนชอบดูหนัง ดูละครเนื้อหารุนแรง เช่น การแก้แค้น ปล้นฆ่า ซึ่งหนังเหล่านี้ มีมีด ปืน เป็นอาวุธหลัก ยิ่งตอกย้ำความคิดของผู้ป่วยโรคนี้เข้าไปอีก การรักษาที่ดีต้องพาไปพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา ควบคู่กับการกินยา ที่สำคัญครอบครัวต้องดูแลใกล้ชิด
หลังเกิดเหตุการณ์ อดีตทหารอาสา ก่อเหตุยิงเด็กร้านสะดวกซื้อย่านลาดพร้าว 25 และยิงผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลสนามธัญญาลักษณ์ ก่อนหลบหนีไปบ้านญาติ จ.ระนอง เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง กว่าจะเกลี่ยกล่อมสำเร็จ ยอมมอบตัว พร้อมอ้างถูกรุ่นพี่ทหารทำร้ายจนเกิดการเก็บกดอย่างหนัก ด้วยภาวะโรค PTSD
การแสข่าวผู้ต้องหามีปัญหาสภาพจิตไม่ปกติ ทำให้ครอบครัว 2 เหยื่อเริ่มหวั่นวิตก คนร้ายอาจไม่ได้รับโทษ ขณะที่สังคมเริ่มออกมาเรียกร้องขอให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาด้วยโทษหนักสุด “ประหารชีวิต” โดยหวังว่าศาลจะไม่หยิบยกเอาภาวะโรคจิต มาเป็นเหตุบรรเทาโทษ
ในเรื่องนี้นักกฎหมายระบุว่า คดีนี้ผู้ต้องหาได้รับโทษอย่างแน่นอน เพราะขณะก่อเหตุเห็นชัด มีสติครบถ้วน หลังก่อนเหตุยังมีการตรวจสอบว่าเหยื่อตายจริงหรือไม่ ซ้ำร้ายยังแสดงออกถึงความสะใจ และที่สำคัญยังขับรถหลับหนีข้ามจังหวัด มีอารมณ์ให้สัมภาษณ์สดสื่อมวลชน เข้าแสดงความคิดเห็น โต้ตอบคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียได้อีก บ่งบอกสัมปชัญญะยังสมบูรณ์ สติดี
เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ที่ระบุว่า จากพฤติการณ์ของผู้ต้องหา สามารถเอาผิดได้ตามกฎหมาย ภาวะโรคนี้ไม่มีผล และเห็นว่าผู้ต้องหาเป็นบุคคลอันตราย หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อาจเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น อาจก่อคดีซ้ำ จึงคัดค้านการประกันตัว. – สำนักข่าวไทย