25 มิถุนายน 2564 ตรวจสอบข้อเท็จจริง/เรียบเรียง โดย : ภริตพร สุธีพิเชฐภัณฑ์/พีรพล อนุตรโสตถิ์
บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูล หากหายไข้หลังจากฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ให้ประชาชนเฝ้าระวังอาการลิ่มเลือดอุดตัน หลังจากฉีดวัคซีนฯ ไปอีก 5-28 วัน ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวพบว่า เป็นเรื่องจริง
บทสรุป แชร์ได้ แต่ต้องอธิบายเพิ่ม เพื่อให้เข้าใจข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน
- ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังอาการของผู้รับวัคซีนอย่างน้อย 28 วัน หรือ ประมาณ 4 สัปดาห์ อยู่แล้ว
- อย่างไรก็ตาม ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อยมาก ๆ และเกิดได้น้อยในคนเอเชีย
- แม้หากมีอาการไม่พึงประสงค์ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็สามารถรักษาอาการให้หายได้
- วัคซีนซิโนแวคพบโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้น้อยกว่าแอสตร้าเซนเนก้า
- การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นสิ่งที่ดี สามารถลดอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้
ข้อมูลที่ถูกแชร์
“ 💉 ใครฉีดวัคซีน AstraZeneca หายไข้แล้ว อย่าเพิ่งวางใจกันนะคะ คอยสังเกตอาการ หลังฉีด 5 -28 วัน ต่อ โอกาสเป็นไม่เยอะ แต่รู้ไว้สังเกตกันค่ะ 💉 ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลังฉีดวัคซีน AstraZeneca (AZD1222) 🔸 ภาวะนี้เรียกว่า VITT (vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia)… 🔸 อาการ ประกอบด้วย ลิ่มเลือดอุดตัน + เกล็ดเลือดต่ำ ♦️ กลุ่มแรก อาการจากเกล็ดเลือดต่ำ มีพรายย้ำ จ้ำเลือด ตามตัว ♦️ กลุ่มสอง อาการลิ่มเลือดอุดตัน ขึ้นอยู่กับว่าอุดตันที่ไหน คือ 🟡 #1 “เส้นเลือดดำในสมอง…. 🟡 #2 “ลิ่มเลือดอุดตันในปอด…. 🟡 #3 “ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา…🟢 วิธีลดโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ที่เราพอทำได้เอง 🔸 พยายามขยับเคลื่อนไหวร่างกาย อย่านอนแช่นาน ๆ…🔸 หากหลอดเลือด มีความหนืดควรดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยได้มาก” โดยข้อมูลดังกล่าวได้ถูกส่งเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์จำนวนมาก
Fact Check : ตรวจสอบข้อมูล
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อสมท ตรวจสอบคำกล่าวอ้างข้างต้น กับ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน นพ.พรศักดิ์ อยู่เจริญ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รับคำตอบในแต่ละประเด็น ดังนี้
Q : [แชร์กันว่า] “ใครฉีดวัคซีน AstraZeneca หายไข้แล้ว อย่าเพิ่งวางใจ ให้คอยสังเกตอาการภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดอีก 5 -28 วัน ภาวะนี้เรียกว่า VITT (vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia)” ข้อความนี้เป็นจริงหรือไม่?
A : เรื่องนี้เป็นไปตามปกติของธรรมชาติ ซึ่งระบบการเฝ้าระวังของประเทศไทยและทั่วโลกจะมีการเฝ้าระวังหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 28 วัน หรือประมาณ 4 สัปดาห์ ขอให้ประชาชนเฝ้าดูอาการของตนเองในช่วงเวลานี้ นอกจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ภาวะการเกิด VITT ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับวัคซีนโมเดิร์นนาและไฟเซอร์ แต่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะเกิดขึ้นได้มากกว่าโมเดิร์นนาและไฟเซอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนอเมริกาหรือคนยุโรป จะเป็นลิ่มเลือดอุดตันได้ง่ายกว่าคนเอเชีย ซึ่งจะเกิดหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 5-28 วัน จึงขอให้เฝ้าระวังอาการไปถึง 28 วัน
“อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญจากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในอวัยวะสำคัญ เช่น ปอด หรือ สมอง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ดังนั้น การเฝ้าระวังติดตามอาการผิดปกติ เช่น อาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก, หายใจผิดปกติ, ใจสั่น ปวดศรีษะ, มึนศรีษะ ตาพร่ามัว, ชา, อ่อนแรง เป็นระยะเวลาประมาณ 28 วัน หรือ 1 เดือน หลังได้รับวัคซีน หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคที่เหมาะสม และทันท่วงที ซึ่งสามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้” นพ.พรศักดิ์ ระบุ
สำหรับอาการลิ่มเลือดอุดตันหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า อาการลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามอวัยวะที่ลิ่มเลือดไปอุดตัน เช่น ในปอด จะมีอาการเจ็บหน้าอกแปล๊บๆ หายใจไม่อิ่มและเหนื่อยง่าย บริเวณขา จะเกิดอาการขาบวมข้างเดียว ในท้องจะเกิดอาการปวดท้องรุนแรง ส่วนในอวัยวะที่สำคัญต่อชีวิต (Vital organs) เช่น เส้นเลือดสมองจะเกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง เมื่อ ไอ จาม จะปวดมากขึ้น และ อาจมีภาวะอ่อนแรง ชาซีกเดียวคล้าย Stroke ก็ได้ หากเกิดที่เส้นเลือดหัวใจจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หากไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตหรือพิการได้
นพ.พรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวัคซีนซิโนแวคโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันมีน้อยกว่าแอสตร้าเซนเนก้ามาก แต่ทำให้เกิดเกล็ดเลือดต่ำได้ โดยจะเกิดปฏิกิริยาคนละแบบ คือมีอาการจ้ำเลือด พบจุดเลือดตามผิวหนังประมาณ 1-2 สัปดาห์ ขณะที่ลักษณะลิ่มเลือดอุดตันในอีกรูปแบบ คือจะเกิดการสร้างภูมิต้านทานตัวเองอย่างรุนแรง ทำให้ลิ่มเลือดมาเกาะกัน จนอุดตันในเส้นเลือดใหญ่ แล้วหลุดไปอุดตันที่ปอด ที่สมองได้
Q : [แชร์กันว่า] “…บทความฝรั่งบอกว่าอาการนี้จะเกิดในช่วงวันที่ 5 – 28 หลังฉีดวัคซีนอาการ ประกอบด้วยลิ่มเลือดอุดตัน + เกล็ดเลือดต่ำโดยผู้ป่วยจะมาด้วย 2 กลุ่ม กลุ่มแรก อาการจากเกล็ดเลือดต่ำ มีพรายย้ำ จ้ำเลือด ตามตัว กลุ่มสอง อาการลิ่มเลือดอุดตัน ขึ้นอยู่กับว่าอุดตันที่ไหน (เส้นเลือดดำในสมอง,ลิ่มเลือดอุดตันในปอด, ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา) …” เรื่องนี้เป็นอย่างไร?
A : เป็นความจริง กล่าวคือ เมื่อปฏิกิริยาเกิดภูมิต้านทานตัวเอง จะมีการทำลายเกล็ดเลือด เกล็ดเลือดก็จะต่ำ ส่วนที่เกิด VITT เกิดจากเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่มีการต่อต้านจากเกล็ดเลือด ทำให้เลือดจับตัวเป็นก้อนโดยใช้เกล็ดเลือด จึงทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด เพราะฉะนั้นเกล็ดเลือดที่ต่ำ ส่วนหนึ่งจะไปกองอยู่เป็นลิ่มก้อนเลือด ฉะนั้นเกล็ดเลือดเล็กๆ ที่ล่องลอย ที่เราจะนำมาตรวจ มันก็เลยลดลง ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือก้อนเลือดที่มันเกิดเป็นปฏิกิริยาจากเกล็ดเลือดไปกองกันอยู่ ทำให้เป็นก้อนเลือด แล้วเกิดการอุดตันเส้นเลือดในปอด ถ้าไปอุดตันที่อวัยวะสำคัญไม่ว่าจะเป็นปอด สมอง หรือหลอดเลือดหัวใจก็จะทำให้ตายและพิการได้ แต่ถ้าเกิดลิ่มเลือดไปอุดตันที่แขนหรือขา ถ้าขาดเลือดก็จะทำให้ขาตาย แขนตาย อาจจะต้องได้รับการตัดแขน ตัดขาได้
Q : [แชร์กันว่า] วิธีลดโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่เราพอทำได้คือการพยายามขยับเคลื่อนไหวร่างกาย อย่านอนแช่นานๆ จริงหรือไม่?
A : ในเชิงทฤษฎีหากทำวิธีนี้เพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีน ไม่ได้ช่วยอะไร แต่จะช่วยสำหรับกรณีการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นได้ในคนทั่วไปที่ไม่ได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตามภาวะหลอดเลือดดำใหญ่อุดตันจะพบได้ในคนที่เคลื่อนไหวน้อย โดยจะมีการอุดตันในหลอดเลือดใหญ่ๆ และอาจจะหลุดไปอุดตัน ในหลอดเลือดที่ขา ที่ปอด หรือที่สมองได้ ซึ่งพบได้ในคนทั่วไปที่มีภาวะเสี่ยง เช่น คนที่เคลื่อนไหวน้อย คนที่กินยาคุม หรือผู้หญิงที่มีโรคอ้วนและอายุมาก
Q : [แชร์กันว่า] หากหลอดเลือดมีความหนืด ควรดื่มน้ำมากๆ จริงหรือไม่?
A : ในเรื่องนี้สามารถช่วยได้บ้าง เพราะร่างกายประกอบด้วยน้ำ 70 เปอร์เซ็นต์ ถ้าน้ำน้อย เลือดก็จะไหลเวียนลำบาก ไม่ต้องเกิดภาวะลิ่มเลือด อาการก็จะแย่หากขาดน้ำ ดังนั้นการกินน้ำทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น จะช่วยให้ร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลที่ดีขึ้น
Q : การฉีดวัคซีนต่างชนิดกัน ทำได้หรือไม่ ?
A : นพ.พรศักดิ์ ระบุว่า ในปัจจุบันมีคำแนะนำให้เปลี่ยนชนิดวัคซีน ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงมาก จนทำให้ระบบประสาทเสียหาย เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตถาวร อย่างไรก็ตาม การได้รับวัคซีนต่างชนิดกัน ในทางทฤษฎีก็เปรียบเหมือนกับการที่เราเรียน 2 ภาษา ในการฟัง การพูด การเขียน การอ่าน ก็สามารถทำได้ แต่จะทำได้ดีหรือไม่ดีนั้น ต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติม ทั้งนี้ มีผลการศึกษาที่ออกมาแล้วบ้าง เช่น การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แล้วตามด้วยวัคซีน mRNA ไฟเซอร์กับโมเดิร์นนา ภูมิคุ้มกันจะขึ้นได้ดีกว่า แต่ต้องบอกว่าเป็นเฉพาะในวัคซีนโควิด-19 ดังนั้น ในกรณีที่ไม่แพ้วัคซีนแต่มีความประสงค์จะเปลี่ยนวัคซีนก็ต้องดูผลการศึกษาเพิ่มเติม
Q : หากฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว ควรฉีดเข็มที่ 3 หรือไม่?
A : ทั่วโลกได้มีการวางแผนไว้แล้วว่า ต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นในเข็มที่ 3 แต่ควรฉีดเมื่อไหร่ หากตามทฤษฎีจะอยู่ระหว่าง 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งเป็นเชิงทฤษฎีที่ยังไม่มีตัวเลขชัดเจน อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่ดีในอนาคต ควรจะต้องได้รับการ กระตุ้นการฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดการป้องกันที่ดียิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แพทย์ระบุ อาการลิ่มเลือดอุดตันสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไปที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เป็นปฏิกิริยาคนละแบบ กระบวนการเกิดคนละอย่าง
นพ.พรศักดิ์ ระบุว่า โดยปกติคนไทยสามารถเกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันที่ไม่เกี่ยวกับวัคซีนได้ เรียกว่า Deep Vein Thrombosis เป็นก้อนเลือดอุดตันในหลอดเลือดใหญ่ ส่วนมากจะเกิดที่ขา สำหรับกรณีหญิงสาวที่กินยาคุมกำเนิดแล้วเกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดเป็นปฏิกิริยาเกิดขึ้นคนละแบบ ไม่ใช่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน แต่เป็นกรณีลิ่มเลือดอุดตันอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นในคนปกติทั่วไป หรือคนที่กินยาคุม และหากเกิดปฏิกิริยาขึ้นที่ขา ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่เป็นปฏิกิริยาคนละแบบ กระบวนการเกิดคนละอย่าง
“เรารับวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ส่วนลิ่มเลือดอุดตันสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติกับคนทั่วๆ ไป ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับวัคซีน ส่วนการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากการให้วัคซีนก็พบได้ แต่เป็นคนละปฏิกิริยา ซึ่งพบได้น้อย และวัคซีนที่ฉีดให้คนไทยไปกว่า 7 ล้านโดสในขณะนี้ (18 มิ.ย.64) ยังไม่พบใครเสียชีวิตจากวัคซีน”นพ.พรศักดิ์ ระบุ
สรุปแล้วข้อมูลที่มีการแชร์กันผ่านโลกออนไลน์นี้สามารถแชร์ต่อได้หรือไม่ ?
นพ.พรศักดิ์ ระบุว่า แชร์ได้ แต่ต้องอธิบายเพิ่ม เพราะข้อมูลที่มีการแชร์ผ่านโลกโซเชียลมีเดียนั้น ไม่ได้มีความละเอียดหรือมีความชัดเจนเท่ากับตำราแพทย์ที่มีการวิจัย อีกทั้งการวิจัยแต่ละที่ก็อาจจะมีความแตกต่างกัน อย่างการวิจัยของเมืองไทยก็อาจจะไม่เหมือนกับเมืองนอก ในเรื่องภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อย่างน้อยเราต้องไม่โกหกผู้ที่ได้รับวัคซีน เพราะภาวะลิ่มเลือดอุดตันสามารถพบได้ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่พบได้ค่อนข้างน้อย เรียกว่าน้อยมากๆ ผู้ที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันจะเกิดขึ้นได้ 1 ราย ใน 5-10 ล้านราย ทั้งนี้หากพบอาการที่ผิดปกติในช่วงเฝ้าระวัง ควรพบแพทย์ทันทีเพราะสามารถให้การรักษาได้ ฉะนั้นไม่ต้องกังวล โอกาสที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันเกิดได้น้อยมาก และถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็สามารถรักษาอาการให้หายได้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าหากเราไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วไปติดเชื้อเข้า โอกาสเสียชีวิตและอาการรุนแรงจะสูงกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน
ข้อมูลอ้างอิง
การสัมภาษณ์ นายแพทย์พรศักดิ์ อยู่เจริญ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter