กทม. 25 มิ.ย. – “ยุทธพร” เชื่อร่างแก้ รธน.ของประชาธิปัตย์ผ่าน 3 วาระ มอง พรรคใหญ่ได้ประโยชน์ พรรคเล็กเสียเปรียบ แนะ เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม แม้จะมีอุปสรรคใหญ่คือฝ่ายบริหารยังได้เปรียบ ชี้ แก้ รธน.ที่ประชาชนได้ประโยชน์ คือ ร่างใหม่ทั้งฉบับด้วย ส.ส.ร.เชื่อมให้ประชาชนมีส่วนร่วม
นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยถึงการลงมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภาที่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์เพียงร่างเดียวว่า สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แก้เรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะผ่านทั้ง 3 วาระ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่ประเด็นอยู่ที่การแก้ไขในเชิงเทคนิค จะให้ประโยชน์อะไรกับสังคม หากย้อนไปดูการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ทั้ง 14 ร่างถูกเสนอเข้ามา แต่ร่างที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 256 ก็ไม่ได้นำมาบรรจุ ทำให้เหลือ 12 ร่างที่สะท้อน 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1.ประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมการเมือง ที่การแก้รัฐธรรมนูญยังคงขัดแย้งและการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์จากสองฝั่ง ทั้งอุดมการณ์ที่สืบทอดความคิดมาจาก คสช.คือในส่วน ส.ว. และอุดมการณ์ฝ่ายการเมืองคือ ในส่วนของพรรคฝ่ายค้าน หรือพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน ซึ่งประเด็นโครงสร้างไม่ว่าจะเป็นการปิดสวิตช์ ส.ว.หรือการตัดอำนาจ ม.272 ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หรือการเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีจาก ส.ส. รวมถึงประเด็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ไม่ผ่านการพิจารณา 2.ประเด็นปัญหาในเชิงเทคนิค ซึ่งเกิดขึ้นตามเป้าหมายของแต่ละพรรคการเมือง ทั้งบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นสิ่งที่พรรคใหญ่ต้องการให้เปลี่ยนแปลง ส่วนประเด็นอื่นๆทั้งการพยายามสร้างอำนาจรัฐที่เข้มแข็งของพลังประชารัฐในการแก้ ม.144 และ ม.185 การประกันรายได้ สิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็ถูกตีตกไป
“สะท้อนให้เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบรรดาพรรคการเมือง แต่ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการมีส่วนรวม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็คงไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง แต่เปลี่ยนแปลงในเรื่องคะแนนเสียงการเลือกตั้ง แน่นอนว่า ถ้าใช้ระบบคู่ขนาน บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็จะเอื้ออำนวยต่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ขณะที่พรรคขนาดกลางมีฐานระดับพื้นที่ก็อาจจะได้ประโยชน์เช่นกัน แต่ไม่เท่าพรรคใหญ่ ส่วนพรรคเล็กหรือพรรคตั้งใหม่จะเสียเปรียบ หลังจากนี้ก็คงเกิดข้อถกเถียงในสังคม ที่อยากเห็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบมีความสัมพันธ์กัน เป็นระบบสัดส่วนผสม หรือ MMP ซึ่งคงต้องพิจารณากันต่อ” นายยุทธพร กล่าว
นายยุทธพร กล่าวอีกว่า การออกแบบระบบเลือกตั้งต้องคำนึงถึงปัจจัยการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน ต้องสะท้อนความเป็นตัวแทนของประชาชน สอดคล้องบริบทสังคมทางการเมืองในขณะนั้น ต้องสะท้อนถึงความหลากหลายในทางสังคม เปิดพื้นที่ให้กับการเมืองชาติพันธุ์ ต้องมีกลไกรับฟังความเห็นของเสียงข้างน้อยเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองแบบ 10 ปีที่ผ่านมา ระบบการเลือกตั้งต้องเข้าถึงง่าย ประชาชนไม่สับสน และระบบการเลือกตั้งต้องเกิดความบริสุทธิ์ ยุติธรรมและเสมอภาค ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้จึงมีความสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเชิงเทคนิคเหล่านี้ ไม่สำคัญเท่ากับการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายก็มองว่า มีความเป็นไปได้ยาก แต่ก็ต้องพยายามทำให้ได้ในการเปิดพื้นที่การเมืองให้ประชาชน ซึ่งยอมรับว่า มีปัญหาและอุปสรรคทั้ง การดำรงอยู่ของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลที่ถ่วงดุลการทำงานกับ ส.ส. รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องการทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็ทำให้ร่างของการแก้ไข ม.256 ไม่ได้รับการบรรจุ ตลอดจนการแบ่งขั้วทางการเมืองที่ยังเกิดขึ้นมาในสังคม ดังนั้น พลังทางการเมืองท่ามกลางความขัดแย้งแบบนี้จึงเกิดขึ้นได้ยาก ทั้งนี้ แม้จะมีกฎหมายประชามติที่กำลังจะประกาศใช้แล้ว ก็ยังระบุถึงอำนาจของคณะรัฐมนตรีในการเสนอหรือริเริ่มการทำประชามติ ดังนั้น แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากภาคประชาสังคม ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม.อยู่ดี ทำให้ฝ่ายบริหารยังได้เปรียบอยู่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเป็นประโยชน์ของประชาชน ก็คือ การร่างใหม่ทั้งฉบับด้วยการมี ส.ส.ร. เพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้กับประชาชนมีส่วนร่วมเขียนกติกา เพื่อกำหนดอนาคตชะตาทางการเมืองต่อไป.-สำนักข่าวไทย.-สำนักข่าวไทย