กรุงเทพฯ 16 มิ.ย.-“การบินไทย” ตั้ง “สุวรรธนะ สีบุญเรือง” นั่งรักษาการดีดีการบินไทย มีผล 16 มิ.ย.-30 ก.ย. 64 หลัง “ชาญศิลป์” ยื่นลาออก พร้อมประธานบอร์ด- 2 กรรมการ เดินหน้าปรับโครงสร้างทุน ลุยลดทุนจดทะเบียนกว่า 5.1 พันล้านภายใน 60 วัน นับจากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯ
รายงานข่าวจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ระบุว่า วานนี้ (15 มิถุนายน 2564) ได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรื่อง การลาออก และแต่งตั้งรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยระบุอีกว่า ตามที่คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ ในการประชุมครั้งที่ 21/2564 เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2564 ได้มีมติอนุมัติการลาออกของนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร จากตำแหน่งรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยยังคงดำรงตำแหน่ง กรรมการบริษัทฯ และผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าศาลจะมีดำสั่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ และแต่งตั้งรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แล้วแต่เหตุใดจะถึงก่อนนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ และในวันเดียวกัน คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2564 โดยที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งให้นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง ประธานเจ้าหน้าที่สายทรัพยากรบุคคล ดำรงตำแหน่ง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีกตำแหน่งหนึ่ง ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.-30 ก.ย. 2564
รายงานข่าวจากการบินไทย ระบุอีกว่า การบินไทย ยังได้แจ้ง ตลท. เรื่อง การลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทฯ 3 ราย ประกอบด้วย 1.พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน กรรมการอิสระ และประธานกรรมการบริษัทฯ 2.นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการบริษัทฯ คนที่ 2 และ 3.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ กรรมการอิสระ ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป
ขณะเดียวกัน การบินไทยยังได้สรุปสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูกิจการ โดยใจความบางส่วน ระบุถึงการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ออกเป็น 36 กลุ่ม แบ่งออกเป็น เจ้าหนี้มีประกัน 1 กลุ่ม และเจ้าหนี้ไม่มีประกัน 35 กลุ่ม โดยในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ มีจำนวนคำขอรับชำระหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทั้งสิ้น จำนวน 13,133 ราย
ทั้งนี้ เป็นภาระหนี้ที่นำมาปรับโครงสร้างตามแผนตามมูลหนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ จำนวน 4.10 แสนล้านบาท ประกอบด้วย เงินต้นจำนวน 4.04 แสนล้านบาท และดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่างๆ จำนวน 5.98 พันล้านบาท (โดยเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ คิดคำนวณเป็นสกุลเงินบาท โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ วันที่ 14 ก.ย. 2563)
ขณะเดียวกัน ผู้ทำแผนและเจ้าหนี้ได้ยื่นคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้บางรายต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยมีภาระหนี้จำนวนประมาณ 2 แสนล้านบาท ที่ผู้ทำแผนเห็นว่าเป็นภาระหนี้ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จึงถือเป็นภาระหนี้ที่ไม่อาจยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ
ดังนั้น ภาระหนี้ดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปตามคำสั่งในคำขอรับชำระหนี้อันเป็นที่สุดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และ/หรือ ศาล (แล้วแต่กรณี) และแผนกำหนดให้มีการชำระหนี้ตามคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลล้มละลายกลาง ศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษ หรือศาลฎีกา (แล้วแต่กรณี) ซึ่งเป็นคำสั่งถึงที่สุดให้ได้รับชำระหนี้
ในส่วนของการปรับโครงสร้างทุนนั้น แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดการปรับโครงสร้างทุนของบริษัทฯ โดย ณ วันที่ 14 ก.ย. 2563 การบินไทยมีทุนจดทะเบียน จำนวน 2.69 หมื่นล้านบาท (2,698,900,950 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท) โดยเป็นทุนชำระแล้วจำนวน 2.18 หมื่นล้านบาท (2,182,771,917 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท) และ ณ วันดังกล่าว การบินไทยมีผลขาดทุนสะสมจำนวน 6.49 หมื่นล้านบาท และมีส่วนเกินมูลค่าหุ้นจำนวน 1.86 พันล้านบาท
โดยการบินไทยจะดำเนินการปรับโครงสร้างทุน อาทิ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน การบินไทยจะดำเนินการลดทุนจดทะเบียนจากจำนวน 2.69 หมื่นล้านบาท ให้เหลือจำนวน 2.18 หมื่นล้านบาท โดยการตัดหุ้นในการบินไทยที่ยังไม่ได้ออกและจำหน่าย จำนวน 516,129,033 หุ้น
อีกทั้งหลังจากการลดทุนดังกล่าวข้างต้น การบินไทยจะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อรองรับการจัดสรรและการออกหุ้นตามสัญญาการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Share Option) จำนวน 1.96 แสนล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 2.18 หมื่นล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 2.18 แสนล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวน 19,644,947,252 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท
ทั้งนี้ ในปีที่ 4 นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน การบินไทยจะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียน เพื่อรองรับการแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่ 5 กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 2.18 แสนล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 2.37 แสนล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวน 1,903,608,17 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท
นอกจากนี้ จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนของการบินไทย จำนวนไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ให้แก่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่ 5 กลุ่มที่ 6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้รายที่แสดงความประสงค์ที่จะแปลงหนี้ออกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญตามเงื่อนไขการคำนวณดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดไว้ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น และภายหลังจากกระบวนการการปรับโครงสร้างทุนและการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนเสร็จสิ้นลง หากปรากฎว่า ยังมีหุ้นเพิ่มทุนที่ไม่ได้รับการจัดสรร และ/หรือ ออกหุ้น ให้ผู้บริหารแผนมีอำนาจในการลดทุนจดทะเบียน เพื่อตัดหุ้นส่วนที่ไม่ได้รับการจัดสรร และ/หรือ ออกหุ้นได้.-สำนักข่าวไทย