กทม. 10 มิ.ย.-นายกฯ สั่งส่วนราชการ เร่งปรับกฎระเบียบภายในให้เอื้อต่อการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน สร้างบิ๊กดาต้าสนับสนุนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้รายงานให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทราบถึงความก้าวหน้าของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งแต่ละด้านดำเนินไปตามแผนงาน แต่มีประเด็นที่ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เห็นว่าควรเร่งรัด คือการบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ บิ๊กดาต้าของภาครัฐ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนราชการและหน่วยงานรัฐ ดำเนินการปรับปรุงข้อกฎหมายและระเบียบภายในตามที่ สศช. เสนอ โดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการเป็นรัฐบาลดิจิทัลให้เป็นรูปธรรมต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สศช. รายงานว่าการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐในระยะที่ผ่าน เช่น การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า(TPMAP) พบว่า การบรูณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐยังมีข้อจำกัด เป็นอุปสรรคสำคัญของการขับเคลื่อนรัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยปัญหาหลักคือ แม้ว่าจะมีกฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการข้อมูลและพัฒนารัฐบาลดิจิทัลแล้ว เช่น พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 แต่กฎหมายและระเบียบภายในของหน่วยงานต่างๆ ยังเป็นข้อจำกัดในการเชื่อมโยงและเผยแพร่ข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อการบูรณาการฐานข้อมูลขนาดใหญ่
สศช.จึงเสนอให้เร่งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบภายในหน่วยงานให้รองรับและสนับสนุนการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับหน่วยงานอื่น สอดคล้องกับกฎหมายหลักด้านการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รวมทั้งสนับสนุนให้บุคลากรทุกหน่วยงานให้มีทัศนคติที่เอื้อต่อการบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานอื่น โดยชี้ให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการบูรณาการข้อมูลเพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการพัฒนานโยบายและการปฏิบัติงาน
“นายกฯ ย้ำว่าการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพราะจะเป็นการยกระดับบริการภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใสตรวจสอบได้ มีการเชื่อมโยงของหน่วยงานและระบบบริการภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ภาคธุรกิจ และผู้ใช้บริการ นายกฯ จึงให้ทั้งส่วนราชการและหน่วยงานรัฐเร่งดำเนินการตามข้อเสนอของสภาพัฒน์ เพื่อให้การไปสู่รัฐบาลดิจิทัลเกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว” น.ส.ไตรศุลี กล่าว.-สำนักข่าวไทย