กรุงเทพฯ18 กพ.นายสิริวัต วิทูรกิจวานิช ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงพลังงาน ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ยกตัวอย่างญี่ปุ่นยังเดินหน้าต่อด้วยเทคโนโลยีเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
นายสิริวัต กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในจังหวัดกระบี่ นั้นถือว่าเป็นประเด็นร้อนมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและไม่สนับสนุน ส่วนฝ่ายสนับสนุนต้องการความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของภาคใต้เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคใต้โดยเฉพาะการท่องเที่ยวลดความเสี่ยงการพึ่งพาไฟฟ้าจากภาคกลางที่สูงมากเกินไป ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่น ส่วนข้อกังวลหลักของฝ่ายต่อต้าน คือ เรื่องเกี่ยวกับมลภาวะสิ่งแวดล้อมและทัศนียภาพ
อย่างไรก็ตามปัจจุบันเทคโนโลยีการกำจัดมลพิษนั้นพัฒนาไปมากแล้ว เช่นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ พบว่าอากาศในบริเวณโดยรอบนั้นสะอาดมาก สามารถสูดอากาศได้เต็มปอด อากาศดีกว่าในกรุงเทพฯ เสียอีก ปัจจุบันเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าถ่านหินได้พัฒนาไปไกลมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่นที่ทาง J-Power มีเป้าหมาย Zero Emission หรือไม่มีการปลดปล่อยก๊าซมลสารเลย
เช่นข้อมูลโรงไฟฟ้าโรงล่าสุดที่ดำเนินการอยู่คือ Isogo ที่ใช้เทคโนโลยี Ultra-Supercritical (USC) Generation ที่มีการปลดปล่อยก๊าซมลสารต่ำมากโดยมี ซัลเฟอร์อ๊อกไซด์ (SOx) เพียง 0.01กรัมต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงและ ไนโตรเจนอ๊อกไซด์ (NOx) เพียง 0.05 กรัมต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งมีอัตราการปลดปล่อยก๊าซมลสารต่ำกว่าประเทศแถบยุโรปและอเมริกาที่มีมาตรฐานสูงหลายเท่าอีกต่างหาก
ขณะนี้ญี่ปุ่นได้มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหน่วยใหม่คือ Matsuura Kyushu หน่วยที่ 2 ที่คาดว่าจะดำเนินการในปี 2020 ที่ใช้เทคโนโลยี Ultra-Supercritical (USC) Generation เช่นกัน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะปลดปล่อยก๊าซมลสารน้อยกว่าของ Isogo เสียอีก ดังนั้นหากโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในจังหวัดกระบี่ สร้างด้วยต้นแบบเทคโนโลยีของญี่ปุ่นได้ ข้อกังวลด้านมลภาวะและสิ่งแวดล้อมจึงไม่น่าจะเป็นประเด็นอีกต่อไป
“จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยการปลดปล่อยก๊าซ SOx NOx และฝุ่นละอองนั้นของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้ได้ดีกว่ามาตรฐานไม่น้อยกว่า 3 เท่า จึงคิดว่าการเน้นการตรวจสอบขั้นตอนการควบคุมคุณภาพและเทคโนโลยีในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่มากกว่าการสร้างประเด็นในสิ่งที่สามารถควบคุมได้ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน”นายสิริวัตระบุ.-สำนักข่าวไทย