กรุงเทพฯ 18 ก.พ.-กฟผ. ขานรับมติเห็นชอบจาก กพช. ปลดล็อคโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพื่อสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้ตามแผน PDP2015 พร้อมทำตามข้อสรุปไตรภาคี ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน และขยายเขตพื้นที่กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตชุมชนให้อยู่ดีมีสุข
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 มีมติเห็นชอบให้ กฟผ. ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้ โดยกล่าวว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานผู้รับสนองนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ ดังนั้น จากนี้ กฟผ. เตรียมขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ตามข้อสั่งการของ กพช. ด้วยการบริหารจัดการพื้นที่โครงการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ดำเนินการให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับก่อนเริ่มดำเนินโครงการ รวมถึงนำข้อเสนอของไตรภาคีมาประกอบการพัฒนาโครงการฯ
ทั้งนี้ ในส่วนของ กฟผ. พร้อมดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ให้เป็นไปตามแผน PDP 2015 และขั้นตอนทางกฎหมายตามมติ กพช. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) หากผ่านความเห็นชอบจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป
ด้านการดำเนินงานตามข้อสรุปของคณะกรรมการไตรภาคีนั้น กฟผ. จะดำเนินการให้ครอบคลุมข้อสรุปของคณะกรรมการไตรภาคีฯ โดยเฉพาะการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงขยายเขตพื้นที่กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าให้เกินกว่ารัศมี 5 กิโลเมตร กล่าวคือ จากเดิมครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล คือ ตำบลปกาสัยและคลองขนาน เพิ่มเป็นให้ครอบคลุมพื้นที่ตลอดเส้นทางขนส่งถ่านหิน ในตำบลเกาะศรีบอยาและตลิ่งชัน โดยคาดว่าจะทำให้ประชาชนในพื้นที่อีกประมาณ 3,320 ครัวเรือน ได้รับประโยชน์จากกองทุนฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการศึกษา สาธารณสุข และอาชีพต่อไป
สำหรับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันกำลังผลิต 3,089.5 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในระบบของ กฟผ. จำนวน 2,713 เมกะวัตต์ และหากเกิดกรณีวิกฤติหรือเหตุสุดวิสัยทำให้โรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่หยุดกะทันหัน จะส่งผลให้ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ PDP 2015 จึงได้บรรจุโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2562 และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กำลังผลิตไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่มีความล่าช้ากว่าแผนไปประมาณ 2 ปี
ต่อประเด็นที่บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ได้เข้าไปลงทุนในกิจการเหมืองถ่านหินของประเทศอินโดนีเซียนั้น โฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า เป็นการลงทุนเพื่อรองรับการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศของ EGATi เอง การส่งถ่านหินมาใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะต้องมีขั้นตอนการประกวดราคาในระดับนานาชาติ เพื่อสรรหาบริษัทผู้จัดหาเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า ซึ่ง กฟผ. จะเปิดให้มีแข่งขันทั้งด้านเทคนิคและราคาอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
“กฟผ. ยืนยันว่า จะดูแลให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เป็นโรงไฟฟ้าของชุมชนอย่างแท้จริง ด้วยความเชื่อมั่นว่า โรงไฟฟ้าอยู่ที่ใด สังคมอยู่ดีมีสุข” โฆษก กฟผ. กล่าว.-สำนักข่าวไทย