2 มิถุนายน 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย: Taiwan FactCheck Center (ไต้หวัน)
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: พีรพล อนุตรโสตถิ์, อดิศร สุขสมอรรถ
ประเภทข่าวปลอม: ไม่มีหลักฐานยืนยัน
บทสรุป:
1.ผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 พบว่า Molnupiravir ได้ผลดีกับผู้รับเชื้อโควิด 19 ไม่เกิน 5 วัน แต่ไม่มีผลทางการรักษากับผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาล
2.ประสิทธิภาพของยายังต้องรอผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ต่อไป
ข้อมูลที่ถูกแชร์:
เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับ Molnupiravir ยาต้านไวรัสโควิด 19 ซึ่งอยู่ในระหว่างการทดลองโดย Merck บริษัทผู้ผลิตยาในประเทศสหรัฐอเมริกา
หนึ่งในข้อความอวดอ้างสรรพคุณของ Molnupiravir คือข้อความจาก Facebook ซึ่งส่งต่อกันในไต้หวันช่วงต้นเดือนเมษายน โดยข้อความระบุว่าบริษัทผู้ผลิตยาจากอเมริกา ได้ผลิตยาต้านไวรัสโควิด 19 ชนิดน้ำในชื่อ Molnupiravir ผู้ป่วยสามารถกินยาอยู่กับบ้านและเชื้อจะหมดไปจากร่างกายภายใน 5 วัน ตัวยาผ่านการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 และ 2 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งการทดลองในมนุษย์ประสบผลสำเร็จ 100% การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ใกล้จะเสร็จสิ้นและได้ผลที่น่าพอใจ คาดว่าจะวางจำหน่ายในท้องตลาดในอีก 4 ถึง 5 เดือนข้างหน้า และต่อไปโควิด 19 จะรักษาได้เองที่บ้านไม่ต่างจากไข้หวัดธรรมดา
FACT CHECK: ตรวจสอบข้อเท็จจริง:
ข้ออ้างเกี่ยวกับ Molnupiravir ที่ถูกแชร์เหล่านี้มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหลายประการ แยกเป็นประเด็นได้ดังนี้
1.Molnupiravir เป็นยาต้านไวรัสโควิด 19 ชนิดน้ำ – ไม่เป็นความจริง
บริษัท Merck ระบุว่า Molnupiravir เป็นยาต้านไวรัสโควิด 19 ชนิดเม็ด ไม่ใช่ยาต้านไวรัสชนิดน้ำอย่างที่กล่าวอ้าง
2.การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ของ Molnupiravir ใกล้จะเสร็จสิ้นและได้ผลที่น่าพอใจ – ไม่เป็นความจริง
เมื่อวันที่ 15 เมษายน Merck ได้เผยแพร่ความคืบหน้าการทดลองยาต้านไวรัสโควิด 19 Molnupiravir ทางเว็บไซต์ โดยบริษัทเตรียมทำการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 กับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ยังไม่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ดังนั้นการทดลองยังไม่ใกล้ที่จะได้ผลสรุปตามที่กล่าวอ้าง
3.การทดลอง Molnupiravir ในมนุษย์ประสบผลสำเร็จ 100% – ไม่เป็นความจริง
ในการทดลองยา Molnupiravir มีการแบ่งผู้ทดลองเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่ม MOVe-OUT ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อโควิด 19 ระยะแรกซึ่งยังไม่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และกลุ่ม MOVe-IN ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล
ผลการทดลองพบว่าการใช้ยา Molnupiravir ได้ผลดีกับกลุ่ม MOVe-OUT และจะทำการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 กับกลุ่มนี้ต่อไป แต่จะไม่ทำการทดลองต่อกับกลุ่ม MOVe-IN หรือกลุ่มผู้ป่วยมีอาการของโรคมาเป็นเวลานานและรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เพราะการทดลองพบว่าการใช้ยา Molnupiravir ไม่มีผลในรักษากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ เป็นการยืนยันว่า Molnupiravir ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ทุกรายอย่างที่กล่าวอ้าง
4.ผู้ป่วยโควิด 19 สามารถกินยา Molnupiravir อยู่กับบ้านและเชื้อจะหมดไปจากร่างกายภายใน 5 วัน – ไม่มีหลักฐานยืนยัน
รอย เบนส์ หัวหน้าศูนย์วิจัยของ Merck อธิบายกับเว็บไซต์ STAT ว่า ผลการทดลองพบว่า Molnupiravir ได้ผลดีที่สุดกับผู้ที่รับเชื้อโควิด 19 ไม่เกิน 5 วัน ซึ่งการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ทีมวิจัยจะลดระยะเวลาของการติดเชื้อในกลุ่มตัวอย่างจาก 7 วันเหลือ 5 วัน โดยจะให้กลุ่มตัวอย่างรับยาสูงสุดที่ 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ซึ่งผลการทดลองคาดว่าจะออกมาในช่วงเดือนกันยายนหรือตุลาคม
ขณะที่สรรพคุณของยายังอยู่ในการทดลอง การอ้างว่า Molnupiravir สามารถกำจัดเชื้อโควิด 19 ได้ภายใน 5 วันจึงเป็นข้ออ้างไม่มีหลักฐานยืนยัน
5.คาดว่า Molnupiravir จะวางจำหน่ายในท้องตลาดในอีก 4 ถึง 5 เดือนข้างหน้า – ไม่มีหลักฐานยืนยัน
ดร.ฉี๋ซิงปัง จากสถาบัน Academia Sinica และสถาบันสุขภาพแห่งไต้หวัน กล่าวว่า Molnupiravir เพิ่งจะเข้าสู่ทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 และต้องทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างอีกประมาณ 3,000 คน
Merck คาดว่า Molnupiravir จะใช้เวลาในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 อีกประมาณ 5 ถึง 6 เดือน และจะสามารถวางจำหน่ายในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 แต่การกล่าวอ้างว่า Molnupiravir จะวางจำหน่ายในอีก 4 ถึง 5 เดือนเป็นการคาดเดาที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน
6.Molnupiravir ทำให้โควิด 19 สามารถรักษาได้เองที่บ้านไม่ต่างจากไข้หวัดธรรมดา – ไม่มีหลักฐานยืนยัน
เฉินฉิวฉี ศาสตราจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัย National Taiwan University อธิบายว่า แม้ Molnupiravir จะมีผลการทดลองที่ดี แต่ตัวยายังต้องผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขก่อนจะได้รับการอนุมัติให้ใช้กับประชาชนทั่วไป
เฉินฉิวฉี ย้ำว่าสิ่งท้าทายผู้ผลิตวัคซีนและยาต้านไวรัสในวันนี้ คือไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้ผู้ที่หายป่วยจากโควิด 19 สายพันธุ์เดิมมาแล้วยังสามารถกลับไปติดเชื้อได้อีก ประสิทธิภาพของยาและวัคซีนในการรับมือกับไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายตั้งคำถาม การอ้างว่า Molnupiravir จะสามารถรักษาโควิด 19 ทุกชนิดได้ จึงเป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน
ข้อมูลอ้างอิง:
https://tfc-taiwan.org.tw/articles/5283
https://www.statnews.com/2021/04/15/merck-to-continue-tests-of-covid-pill-but-stop-trial-in-hospitalized-patients/
https://www.merck.com/news/merck-and-ridgeback-biotherapeutics-provide-update-on-progress-of-clinical-development-program-for-molnupiravir-an-investigational-oral-therapeutic-for-the-treatment-of-mild-to-moderate-covid-19/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter