มักกะสัน 20 ก.พ.-วงเสวนาชี้ E-Sport เป็นเพียงวาทกรรมที่อุตสาหกรรมเกมส์สร้างขึ้น ไม่มีงานวิจัยรองรับ เตือนเด็กทุกคนที่เล่น เสี่ยงติดเกมส์ ส่งผลสมาธิสั้น-อารมณ์รุนแรง -การเรียนตกต่ำ
กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ดย.พม.) จัดเสวนา “E-Sports เกม กีฬา ธุรกิจ และเด็กไทย” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด เกี่ยวกับ E-Sports การเล่นเกมส์ ที่คนกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นการเล่นกีฬาประเภทหนึ่งว่ามีความเหมาะสมกับเด็กและสังคมไทยหรือไม่ ณ หอประชุม กรมกิจการเด็กและเยาวชน กทม.
นายวิษณุ โคตรจรัส อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อดีตนักเล่นเกมส์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนากล่าวว่า E-Sports ถือเป็นกีฬาประเภทหนึ่งเนื่องจากทำให้ผู้เล่น สามารถนำมาเป็นอาชีพ มีรายได้เป็นและการเล่นที่ต้องการหาผู้ชนะ มีเงินรางวัลแลกเปลี่ยน เน้นที่ 2ฝ่ายสู้กันด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ชนะกันก็จบ ใช้ความสามารถของผู้เล่น โดยไม่ต้องซื้อของในเกมส์เพิ่มและไม่มีความต่อเนื่องของเกมส์ ซึ่งต่างจากการเล่นเกมส์ออนไลน์ทั่วไป ที่ต้องซื้อของในเกมส์เพิ่มเพื่อให้เล่นเก่งเล่นดีขึ้นและผู้เล่นไม่มีการแบ่งเวลาที่เหมาะสมและมองว่าคนเล่นเกมส์ออนไลน์ ไม่ใช่กลุ่มคนเดียวกันกับผู้เล่นเกมส์ E-Sports
ขณะที่นายธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัล บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คำว่า E-Sports เริ่มเข้ามาในประเทศเมื่อประมาณปี 2550 พ่วงมากับวีดิโอเกมส์ หมายถึงกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับอุตสาหกรรมผู้ผลิตเกมส์ โดยมีรายได้มาจากการจัดกิจกรรมต่างๆผ่านการแข่งขันภายใต้ว่า E-Sportsโดยเจาะกลุ่ม เป้าหมายที่มีกำลังซื้ออย่างนักศึกษา ที่ชื่นชอบการเล่นเกมส์และต้องการพัฒนาฝีมือการเล่นให้เป็นที่หนึ่ง เพื่อให้ได้เงินรางวัลสูงสุด แม้ปัจจุบันจะมีผู้เล่นจำนวนมากแต่ส่วนน้อยเท่านั้นที่กลายเป็นมืออาชีพ และประสบความสำเร็จ
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า E-Sportsเป็นเพียงวาทกรรมที่อุตสาหกรรมเกมส์พัฒนาขึ้นมา ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับว่าเหมาะสมเป็นกีฬาหรือไม่ เนื่องจากอาศัยเพียงความเร็ว ไม่ใช้ทักษะร่างกายและสมอง เหมือนกีฬาประเภทอื่น จึงต้องต้องทบทวนว่า E-Sports เหมาะสมกับการเป็นกีฬาหรือไม่ โดยยืนยันเด็กทุกคนที่เล่นเกมส์ เสี่ยงต่อการเสพคิดเกมส์ ส่งผลต่อพฤติกรรม ขาดทักษะการใช้ชีวิต และการพัฒนาของสมอง ซึ่งยิ่งโตความรุนแรงจะยิ่งเพิ่มขึ้น ดังนั้น ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีเล่นแต่สำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี เล่นได้ แต่ควรเลือกเกมส์ส่งเสริมการศึกษา และอยู่ภายใต้การควบคุมผู้ปกครอง ส่วนเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปควรเล่นเกมส์ที่ไม่มีเรื้อหารุนแรงและสุ่มเสี่ยงทางเพศ
ทั้งนี้ เสนอผู้ปกครองควรปฏิบัติตามหลัก 3 ต้องคือต้องตกลงเวลา ต้องกำหนดโปรแกรม ต้องเล่นกับลูก และ 3 ไม่คือ ไม่เล่นก่อนนอน ไม่เล่นในเวลาครอบครัว ไม่เป็นตัวอย่างที่ผิด.-สำนักข่าวไทย