กรุงเทพฯ 7 พ.ค. – ธนาคารกรุงเทพ ช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจสู้โควิด-19 ด้วยการออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู สูงสุดร้อยละ 30 ของวงเงินเดิม หรือไม่เกิน 150 ล้านบาท และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ลดภาระทางการเงิน
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบแนวโน้มทางเศรษฐกิจไทยในปี 2564 และยังมีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลต่อผู้ประกอบธุรกิจในวงกว้าง และประเมินว่าบางธุรกิจอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นตัว ธนาคารจึงขานรับมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง มอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ผ่าน 2 มาตรการ ประกอบด้วย
1.) มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ สำหรับทั้งลูกค้าปัจจุบันที่มีวงเงินสินเชื่อธุรกิจกับธนาคารไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งสามารถขอวงเงินสินเชื่อฟื้นฟูได้สูงสุดร้อยละ 30 ของวงเงินเดิม สูงสุดไม่เกิน 150 ล้านบาท (นับรวมกับวงเงิน Soft Loan เดิมที่เคยได้รับตาม พ.ร.ก.) และลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินใด สามารถขอสินเชื่อได้สูงสุด 20 ล้านบาท โดยนับรวมวงเงินจากทุกสถาบันการเงิน โดยช่วง 5 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี โดยช่วง 2 ปีแรก คิด 2% ต่อปี ทั้งยังได้รับยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือนแรก จากการสนับสนุนของกระทรวงการคลัง ซึ่งธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการขอสินเชื่อ เพื่อช่วยลดภาระผู้ประกอบการ นอกจากนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อทุกราย คิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันไม่เกิน 1.75% ต่อปี โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้บางส่วน
2.) มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) เพื่อลดภาระทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ ซึ่งได้รับผลกระทบและต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว ด้วยการโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันชำระหนี้ให้กับธนาคาร ตามราคาที่ตกลงกัน โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถเช่าทรัพย์สินนั้นเพื่อไปประกอบธุรกิจได้ตามอัตราค่าเช่าที่ตกลงกัน และให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจในการซื้อทรัพย์คืน ภายใน 3-5 ปี
ผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ธุรกิจสัมพันธ์ หรือสาขา หรือสำนักธุรกิจของธนาคาร เพื่อสอบถามเพิ่มเติมได้ทุกช่องทาง ทั้ง www.bangkokbank.com, Bangkok Bank Line Official หรือ โทร.1333 หรือ 0 2645 5555.- สำนักข่าวไทย