กรุงเทพฯ 4 ม.ค. – กรมโรงงานฯ เผยยอดประกอบและขยายโรงงานปี 59 มูลค่าลงทุน 478,000 ล้านบาท ยานยนต์คว้าแชมป์เงินลงทุนสูงสุดกว่า 70,000 ล้านบาท ชูยุทธศาสตร์ “Work Smart” ตั้งเป้าเพิ่มความสะดวกโรงงานปี 60
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานรวบรวมสถิติการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในช่วง 12 เดือนของปี 2559 การประกอบและขยายกิจการโรงงาน (รง.4) แบ่งเป็นประกอบกิจการ 4,363 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 310,000 ล้านบาท และขยายกิจการ 852 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 168,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 5,215 โรงงาน เงินลงทุน 478,000 ล้านบาท สำหรับ 5 อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าลงทุนมากที่สุดในช่วง 12 เดือน ได้แก่ ยานยนต์และอุปกรณ์ 70,481 ล้านบาท อุตสาหกรรมอาหาร 66,182 ล้านบาท อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 29,531 ล้านบาท อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 25,159 ล้านบาท และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อโลหะ 23,076 ตามลำดับ รวมเม็ดเงินการลงทุนกว่า 214,000 ล้านบาท
นายมงคล กล่าวต่อว่า ในประเทศภาพรวมด้านการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายถือว่าผู้ประกอบการให้การตอบรับอย่างดี โดยเห็นได้จากมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมีการขยายกิจการโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ 36 โรงงาน มูลค่าลงทุน 47,541 ล้านบาท อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 235 โรงงาน เงินลงทุน 32,356 ล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 43 โรงงาน เงินลงทุน 13,314 ล้านบาท อุตสาหกรรมการแพทย์ 5 โรงงาน เงินลงทุน 6,161 ล้านบาท อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 5 โรงงาน เงินลงทุน 1,304 อุตสาหกรรมเกษตรเทคโนชีวภาพ 8 โรงงาน เงินลงทุน 1,132 ล้านบาท อุตสาหกรรมดิจิตอล 1 โรงงาน เงินลงทุน 1,098 ล้านบาท อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และแขนกล 16 โรงงาน เงินลงทุน 562 ล้านบาท อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสุขภาพ 5 โรงงาน เงินลงทุน 198 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอากาศและการบิน 1 โรงงาน 169 ล้านบาท รวมเงินลงทุนกว่า 103,835 ล้านบาท โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเร่งผลักดันการประกอบกิจการและขยายกิจการโรงงานในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นศักยภาพที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากที่เป็นอยู่ให้สูงขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกให้มาลงทุน
สำหรับปี 2560 กรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งเป้ายกระดับภาคอุตสาหกรรมผ่านแนวคิด “WORK SMART” ในหลากหลายมิติ อาทิ การอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการทุกขั้นตอนของการอนุญาตตั้งธุรกิจ ทั้งการลดระยะเวลายื่นคำขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน เพิ่มระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์อำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน อาทิ ระบบจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ระบบการติดตามการดำเนินงานอนุญาตโรงงาน วัตถุอันตราย และเครื่องจักร ระบบรายงานปริมาณสารมลพิษน้ำและมลพิษอากาศ เป็นต้น รวมถึงยังมีหน่วยร่วมตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านหน่วยบริการ DIW TEAM ที่อยู่ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานทุกจังหวัดเพื่อคอยติดตามตรวจสอบมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ น้ำ อากาศ เสียง ฝุ่นละออง ฯลฯ ซึ่งการยกระดับดังกล่าวสอดคล้องกับพันธกิจของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่มุ่งพัฒนาเพื่อให้บริการรวดเร็วและโปร่งใส ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และยังสร้างความสมดุลของภาคสังคมและอุตสาหกรรมด้วยการใส่ใจสิ่งแวดล้อม.-สำนักข่าวไทย