กรุงเทพ24 มี.ค.-กนอ.พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและโรงงานนำร่องสู่การเป็น Smart Ecoในปี 2564 รวม 6 แห่ง ต่อยอดสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ดำเนินโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม/โรงงานอุตสาหกรรม สู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (IEAT 4.0 : Smart Eco Industrial Estate) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ ภายใต้นโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 และ Industry 4.0 ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
โดย กนอ.ได้กำหนดเกณฑ์การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะโดยมีองค์ประกอบ 8 ด้าน ได้แก่ 1) Smart Environment Surveillance ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยอัจฉริยะ 2) Smart Water ระบบการจัดการน้ำอัจฉริยะ 3) Smart Energy ระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ 4) Smart Waste ระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอัจฉริยะ 5) Smart Safety/Emergency ระบบป้องกันด้านความปลอดภัยอัจฉริยะ 6) Smart Logistic ระบบขนส่งอัจฉริยะ 7) Smart IT ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ และ 8) Smart Building อาคารอัจฉริยะ (สำหรับนิคมอุตสาหกรรม) หรือ Smart Resource/Process กระบวนการผลิตอัจฉริยะ (สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม)
“การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมในด้านต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดการด้านความปลอดภัย รวมทั้งจัดการระบบขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นางสาวสมจิณณ์ กล่าว
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมที่นำร่องสู่การเป็น Smart Eco ในปี 2564 ประกอบด้วย 1. นิคมอุตสาหกรรมหนองแค นำระบบ Smart IT (ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ) มาใช้งาน 2. นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด ได้นำระบบที่มีการใช้งานด้าน Smart Logistic (ระบบขนส่งอัจฉริยะ) มาใช้ 3.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้นำระบบที่มีการใช้งานด้าน Smart Building (การพัฒนาอาคารอัจฉริยะ) เป็นการบริหารจัดการพลังงาน
นอกจากนี้ ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมที่นำระบบการใช้งานด้านการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอัจฉริยะ (Smart Waste) อีก 2 แห่ง โดยทั้ง 2 โรงงานได้จัดทำระบบฐานข้อมูลของเสียและแผนผังการไหลของเสีย (Waste Profile and Waste Flow Diagram) เพื่อคาดการณ์ปริมาณของเสียประเภทต่างๆ และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในการเชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยนนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) รวมทั้งเชื่อมโยงระบบการติดตามเส้นทางการขนส่งของเสียของผู้รับบริการขนส่งแบบ Real Time เพื่อการตรวจสอบและควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย-สำนักข่าวไทย