กรุงเทพฯ 18 ธ.ค. – ปลัดอุตสาหกรรมห่วงโรงงานไฟไหม้บ่อย ปี 59 เกิดแล้ว 98 ครั้ง เผยสถิติย้อนหลัง 3 ปี พบ 8 ประเภทโรงงานเสี่ยงไฟไหม้สูง เตือนผู้ประกอบการเฝ้าระวังเข้มช่วงหน้าแล้ง
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวสภาพอากาศแห้งและมีลมพัดแรง ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดเพลิงไหม้สามารถลุกลามได้อย่างรวดเร็วและยากต่อการควบคุมเพลิง โดยเฉพาะช่วงปลายปีโรงงานส่วนมากจะเร่งผลิตสินค้า เพื่อส่งมอบให้ทันในช่วงเทศกาลปีใหม่และใช้ช่วงวันหยุดซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์และเครื่องจักรประจำปี ซึ่งพนักงานที่อยู่ปฏิบัติงานจะเหลือน้อย จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอัคคีภัยภายในโรงงาน สร้างความสูญเสียด้านชีวิตและทรัพย์สิน
ทั้งนี้ หากดูสถิติการเกิดไฟไหม้โรงงานย้อนหลัง 3 ปี พบว่าสูงขึ้น โดยปี 2557 เกิดไฟไหม้โรงงาน 79 ครั้ง ปี 2558 เกิดขึ้น 84 ครั้ง ปี 2559 เกิดขึ้น 98 ครั้ง จึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนโรงงานระมัดระวังและเข้มงวดด้านความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยสูง เช่น โรงงานแป้ง โรงงานสิ่งทอ ปั่นด้าย ทอผ้า โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า โรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ โรงงานผลิตกระดาษ โรงงานประกอบกิจการสี ทินเนอร์ โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง โรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำการตรวจโรงงานต้องกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยและต้องให้คำแนะนำเชิงเฝ้าระวังป้องกันที่สามารถปฏิบัติตามได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยกระทรวงฯ ได้เผยแพร่ข้อปฏิบัติและข้อมูลด้านความปลอดภัยสามารถดาวน์โหลดข้อมูลดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์กรมโรงงานฯ www.diw.go.th ในหัวข้อข่าวประกาศ
สำหรับสถิติการเกิดไฟไหม้โรงงานปี 2559 (ม.ค.-พ.ย.) พบว่า เกิดขึ้น 98 ครั้ง แบ่งเป็น 8 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มโรงงานสิ่งทอ เส้นใยพืช ฟอกย้อมผ้า 11 แห่ง 2.กลุ่มโรงงานแปรรูปไม้ 6 โรง 3. กลุ่มโรงงานพลาสติก โฟม กระดาษ ยาง 17 โรง 4.กลุ่มโรงงานเคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี สารเคมี สารอันตราย 9 โรง 5.กลุ่มโรงงานสีและสารไวไฟ 5 โรง 6.กลุ่มโรงงานกาก หรือ ขยะอุตสาหกรรม 12 โรง 7.กลุ่มโรงงานอาหาร 14 โรง และ 8.กลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรงงาน เช่น โกดังสินค้า 24 โรง ส่วนสาเหตุของการเกิดไฟไหม้โรงงาน อันดับ 1 ไฟฟ้าลัดวงจร อันดับ 2 ระบบการเผาไหม้และไม่สามารถหาสาเหตุได้ อันดับ 3 กองเชื้อเพลิงและเหตุจากภายนอก อันดับ 4 การเชื่อมและการซ่อมบำรุง และอันดับ 5 ไฟฟ้าสถิตย์.-สำนักข่าวไทย