นนทบุรี 9 มี.ค. – พาณิชย์ดึงกัญชา-กัญชงเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย หวังปลุกกระแสเครื่องประดับรักสิ่งแวดล้อมแถมโกอินเตอร์ พร้อมเร่งมาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยหลังเจอโควิด
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่เปิด “โครงการพัฒนาอัตลักษณ์ ยกระดับเครื่องประดับอีสานใต้ ก้าวไกลโกอินเตอร์” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ณ จังหวัดนครราชสีมา และ บุรีรัมย์ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อปลุกกระแสเครื่องประดับรักสิ่งแวดล้อม และ ทดลองนำพืชเศรษฐกิจใหม่อย่างกัญชง และ กัญชา มาประยุกต์ใช้ในการรังสรรค์เครื่องประดับ
ทั้งนี้ ในฐานะที่ได้กำกับดูแล GIT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านอัญมณีและเครื่องประดับโดยได้มอบหมายให้ GIT ลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพบุคลากร การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนถึงการพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาด้านเทคนิคการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างแบรนด์ เพิ่มการเข้าถึงช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชนพึ่งตัวเองได้ในระยะยาวต่อไป ซึ่งโครงการพัฒนาอัตลักษณ์ ยกระดับเครื่องประดับอีสานใต้ ก้าวไกลโกอินเตอร์ ถือได้ว่าเป็นโครงการที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมากและถือเป็นการต่อยอดจากปีที่ผ่านมา แม้จะมีสถานการณ์ Covid-19 แต่สถาบันยังสามารถลงไปพัฒนาผู้ประกอบการอีสานใต้ และได้ผลิตภัณฑ์งานออกแบบที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ดังนั้น ในปีนี้สถาบันยังได้เฟ้นหานักออกแบบที่มีชื่อเสียงมาร่วมดำเนินงานกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดเครื่องประดับอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่โดดเด่นไม่แพ้ปีผ่านมา
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในภูมิภาค (Gems Treasure) ถือได้ว่าเป็นโครงการสำคัญของสถาบันที่ได้ลงไปบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งปัจจุบันได้ลงพื้นที่ไปแล้วกว่า 15 จังหวัด โดยในปี 2564 นี้ ได้นำนักออกแบบรุ่นใหม่ที่ได้รับการยอมรับระดับประเทศ อาทิ พลัฎฐ์ จิรพุฒินันท์ อเนก ตันตสิรินทร์ กนกกร ล้ำเลิศ วนัส โชคทวีศักดิ์ ณิชภัค ต่อสุทธิ์กนก และ ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ ลงพื้นที่อีสานใต้ อาทิ นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี เพื่อศึกษา และต่อยอดการออกแบบ รวมทั้งการทดลองนำร่องการใช้วัสดุท้องถิ่น และวัสดุทางเลือก มาใช้ในการออกแบบเพิ่มมากขึ้น กับโครงการที่มีชื่อว่า “อีสานมอร์เดิ้น” โดยมีการเลือกใช้วัสดุต่างๆ อาทิ ทั้งวัสดุ รีไซเคิล ไม้ เส้นใยต่างๆ รวมทั้งการผุดโปรเจคใหม่ที่นำเส้นใยจาก “กัญชง หรือ กัญชา” มาต่อยอดในการออกแบบเครื่องประดับอีกด้วย โดย อเนก ตันตสิรินทร์ นักออกแบบและผู้ก่อตั้งแบรนด์ Arquetype ได้วางแนวคิด
สำหรับคอลเลคชั่นของจังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้ Concept Burirum Smiley โดยจะนำใช้ เส้นใย สีสัน ของต้นกัญชงและกัญชา มาผ่านกระบวนการย้อมสี และนำมาเป็นวัตถุดิบในการรังสรรค์เครื่องประดับที่จะสื่อถึงอารมณ์ความสนุกสนานในรูปแบบ Modern Street ที่มีความน่าสนใจและแปลกใหม่เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ สถาบันยังเคยมีการนำ “กัญชง” มาเป็นวัสดุทางเลือกในการออกแบบมาแล้ว กับผลงานที่ชื่อว่า “อ้อมกอดแห่งขุนเขา” โดยได้นำหยก และ ทับทิมดิบที่มีฟอร์มธรรมชาติ ไม่ผ่านการเจียระไนมาเป็นส่วนประกอบของชิ้นงาน โดยถักทอเป็นเครื่องประดับด้วยเส้นใยกัญชง เส้นใยฝ้าย รวมถึงเส้นใยประดิษฐ์ เป็นเครื่องประดับแนวอีโคสมัยใหม่และเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่รักสิ่งแวดล้อมอีกด้วย . – สำนักข่าวไทย