นนทบุรี 19 ธ.ค. – นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยภาพรวมขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคม – 14 ธันวาคม 2559 มีการยื่นขออนุญาตส่งออกข้าวประมาณ 9.3 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 4,173 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (146,191 ล้านบาท) เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการส่งออกข้าวช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และคาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวปี 2559 ทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ที่ปริมาณ 9.5 ล้านตัน โดย 5 อันดับแรกของประเทศที่นำเข้าข้าวจากไทยสูงสุด คือ เบนิน จีน โกตดิวัวร์ แอฟริกาใต้ และแคเมอรูน และชนิดข้าวที่ส่งออกมากที่สุด คือ ข้าวขาวมีสัดส่วนร้อยละ 50 ของการส่งออกรวม ข้าวหอมมะลิไทยประมาณร้อยละ 25 นอกนั้นเป็นข้าวนึ่ง ข้าวเหนียว และข้าวปทุมธานี โดยปีนี้ข้าวหอมมะลิมีสัดส่วนการส่งออกเพิ่มจาก 1.5 ล้านตัน เป็นประมาณ 2 ล้านตัน เนื่องจากราคาสามารถแข่งขันได้
สำหรับสถานการณ์ราคามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการเจรจาราคากับ COFCO รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับการส่งมอบข้าวแสนตันที่ 2 ในเดือน มกราคม – กุมภาพันธ์ 2560 ตามสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G-to-G) ภายใต้ MOU ไทย – จีน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวไทยปี 2560 เพราะมีตลาดรองรับตั้งแต่ต้นปี
ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงานให้ข้อมูลผ่านสื่อเกี่ยวกับการนำข้าวจากสตอกไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยยืนยันว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลทยอยระบายข้าวในสตอกของรัฐทั้งเพื่อการบริโภคและระบายสู่อุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องตามจังหวะและโอกาสที่ตลาดเอื้ออำนวย โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีแนวทางชัดเจนให้ระบายโดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดและราคาที่เกษตรกรจะได้รับ จนกระทั่งปัจจุบันรัฐบาลมีข้าวคงเหลือในสตอกของรัฐประมาณ 8 ล้านตัน ในหลักการ นบข.เคยมีมติให้นำข้าวเสื่อมคุณภาพที่ไม่เหมาะสมกับการบริโภคทั่วไปเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูป ซึ่งที่ผ่านมาประมูลเข้าสู่อุตสาหกรรมที่เหมาะสมมาเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ข้าวคงเหลือในสตอกของรัฐส่วนใหญ่เป็นข้าวที่มีอายุการเก็บรักษาเกินกว่า 5 ปี บางส่วนเป็นข้าวที่ถูกตรวจพบว่าเสื่อมสภาพตั้งแต่แรก บางส่วนแม้จะนำออกมาประมูลแล้วแต่ไม่สามารถขายได้ เพราะไม่มีผู้ยื่นเสนอซื้อหรือเสนอราคาที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งในการประมูลข้าว 23 ครั้งที่ผ่านมากรมการค้าต่างประเทศนำข้าวประมูลถึง 17.38 ล้านตัน จำหน่ายได้ 8.48 ล้านตัน ส่วนที่เหลือยังขายไม่ได้ เพราะไม่ผ่านเกณฑ์ราคาและบางส่วนไม่มีผู้ยื่นเสนอซื้อดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงข้างต้นข้าวที่เหลือและมีอายุการเก็บเกิน 5 ปี จึงมีความเสื่อมสภาพลงและเป็นภาระที่ภาครัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและดอกเบี้ย ประกอบกับ ผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีปริมาณมาก สตอกข้าวที่อยู่ในมือของผู้ประกอบการในตลาดจึงมีปริมาณมาก ข้าวคงเหลือในสตอกของรัฐจึงเป็นภาระส่วนเกินที่กดทับตลาดและส่งผลกระทบทางจิตวิทยาเชิงลบต่อตลาดข้าวและไม่เป็นผลดีต่อการค้าข้าวไทยในภาพรวม จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการพิจารณาถึงการนำข้าวเสื่อมคุณภาพไปเข้าสู่อุตสาหกรรมพลังงาน โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงานจะร่วมกันประมวลข้อมูลให้สถาบันที่เป็นหน่วยกลางที่ นบข.มอบหมายทำการศึกษาวิธีการ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสม โดยจะยังคงยึดหลักการที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อราคาข้าวและผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ ที่อุตสาหกรรมนั้นใช้อยู่ ซึ่งหากสามารถนำข้าวดังกล่าวออกระบายสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภค โดยมีการศึกษารายละเอียดและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยปฏิบัติสามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใสรอบคอบและรัดกุม คาดว่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน ทั้งนี้ นบข.จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการระบายข้าวต้นเดือนมกราคม 2560 และยังมั่นใจการส่งออกข้าวปีหน้าจะอยู่ที่กว่า 9 ล้านตัน โดยผู้นำเข้าข้าวไทยยังมีความต้องการต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย