กรุงเทพฯ23 ก.พ. – ปตท.เชื่อมั่นปีนี้ มีกำไรสตอกน้ำมัน จากปี 63 ทั้งกลุ่มขาดทุนสตอกรวม 1.9 หมื่นล้านบาท คาดกรอบราคาน้ำมันดูไบ 55-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตั้งงบทั้งกลุ่ม 1.6 ล้านล้านบาท ขยายธุรกิจตามแผน 5 ปี ร่วมมือกองทัพบกลุย”เมกะโซลาร์ฟาร์ม ” เชื่อ Gas to Power ในเมียนมาเดินหน้าได้
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า แม้ราคาน้ำมันดิบขณะนี้จะอยู่ที่ประมาณ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ ปตท.ยังไม่ปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปีที่ 55-60 ดอลลาร์/ บาร์เรล ซึ่งราคาที่สูงขึ้นก็เป็นผลดีต่อผลดำเนินการของกลุ่ม ปตท. และคาดว่า หากราคาไม่ผันผวนมากปีนี้ ปตท.จะมีกำไรสตอกน้ำมัน เพราะปี 63 ราคาดูไบเฉลี่ยที่ 42.2 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยทั้ง กลุ่ม ขาดทุนสตอกปี63รวม 1.9 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนของ ปตท. ประมาณ 9.2 พันล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานของปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมี EBITDA จำนวน 225,672 ล้านบาท ลดลง 63,300 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.9 มีกำไรสุทธิจำนวน 37,766 ล้านบาท ลดลง 55,185 ล้านบาท หรือร้อยละ 59.4 จากปี 2562 ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจให้ยังคงมีความเข้มแข็ง เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งจากพอร์ต ปตท.ที่แข็งแกร่งมีหลายผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ขั้นต้น กลาง ปลาย ประกอบกับความร่วมมือกันบริหารงานทั้งกลุ่ม ก็ทำให้ ปตท.ได้รับผลกระทบต่ำ ในขณะที่ บริษัทพลังขนาดใหญ่ในโลกได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน เช่น เอ็กซอน ขาดทุน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เชฟรอน ขาดทุน 5,500 ล้านดอลลาร์ เป็นต้น
คณะกรรมการ ปตท. มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินปันผล ปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 1.00 บาท แบ่งเป็นเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลประกอบการ 6 เดือนแรกในอัตราหุ้นละ 0.18 บาท และ 6 เดือนหลัง อีก 0.82 บาท ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. นำส่งรายได้ให้รัฐ ทั้งในรูปเงินปันผลและภาษีเงินได้ในปี 2563 จำนวน 36,535 ล้านบาท หากรวมนับตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน รวมจำนวนประมาณ 9.9 แสนล้านบาท
5 ปีข้างหน้า กลุ่ม ปตท. เตรียมงบ 1.6 ล้านล้านบาท พร้อมรุกธุรกิจใหม่
สำหรับการดำเนินธุรกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2568) กลุ่ม ปตท. เตรียมแผนลงทุนในวงเงินรวม 850,573 ล้านบาท (ไม่รวมโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการลงทุนหรือแสวงหาโอกาสในการลงทุน) และจัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) อีก 804,202 ล้านบาท เป็นส่วนของ ปตท.เงินลงทุน 5 ปีที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท และ งบ Provisional ประมาณ 3 แสนล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง สร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาเศรษฐกิจไทย ทั้งในธุรกิจหลักของกลุ่มโรงกลั่น ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมี มุ่งแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆด้วยการรุกธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต
รวมถึงเชื่อมต่อคุณค่าจากแหล่งผลิตปิโตรเลียมสู่ประชาชน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศธุรกิจ (Ecosystem) ตั้งแต่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และ ก๊าซธรรมชาติ สู่ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า จนถึงธุรกิจแบตเตอรี่และการกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมเดินหน้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ ได้แก่ โครงการ LNG Terminal 2 (หนองแฟบ) โครงการโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 7 โครงการท่อก๊าซฯบนบกเส้นที่ 5 รวมถึงการเดินหน้าลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ผ่าน บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) โดยมีเป้าหมายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 4.3 GW ภายในปี 2568 เป็นไปตามแผนที่ ปตท.จะมีพลังงานทดแทนในพอร์ต 8 พัน เมกะวัตต์ในปี 2573 และจะเป็นส่วนที่ทำให้ ปตท.ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ ร้อยละ 27 เร็วกว่าแผนเดิมที่จะลดได้ร้อยละ 20 ในปี 2573
กลุ่ม ปตท. ยังเตรียมพร้อมก้าวสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยในอนาคต เช่น การจัดตั้งบริษัท AI and Robotics Venture (ARV) ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) รวมถึงการจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจ Life Science ใน 4 กลุ่มธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ 1. ธุรกิจยา 2. ธุรกิจอาหารและโภชนาการ 3. ธุรกิจอุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ 4. ธุรกิจเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อให้เป็น New S-Curve ของกลุ่ม ปตท. และประเทศไทย ทั้งยังส่งเสริมสาธารณสุขคนไทยให้มั่นคง
“ การปรับพอร์ตการลงทุนในอนาคต จะใช้พอร์ตปัจจุบันสร้างความแข็งแกร่ง ได้ ในส่วนของฟอสซิล จะไปทางก๊าซฯมากที่สุด โดยในส่วนของ ปตท.สผ. จะเพิ่มสัดส่วน ก๊าซฯลดสัดส่วนน้ำมัน จาก 65:35 เป็น 80:20 พร้อมลงทุนครบวงจรของธุรกิจก๊าซ ในขณะที่กลุ่มขั้นปลาย กลุ่มโรงกลั่น –ปิโตรเคมี-การค้าน้ำมัน ก็จะร่วมมือกันในการลงทุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมูลค่าเพิ่มสูง ใช้ดิจิทัลมาตอบสนองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น”นายอรรถพลกล่าว
พร้อมร่วมมือ “เมกะโซลาร์ฟาร์ม”กองทัพบก
นายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม กล่าวว่า ปตท.ได้หารือ กับ กองทัพบก ในโครงการเมกะโซลาร์ฟาร์ม 3 หมื่นเมกะวัตต์ โดยพร้อมร่วมมือทั้งโครงการ โซลาร์ฟาร์ม และ ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS )
และยังหารือกับทางทหารในความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม เพื่อความมั่นคงอื่นๆ ทั้งนี้ในแผน ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ปี 64 น่าจะมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งกลุ่ม ปตท.จะร่วมทุนทั้งระบบตั้งแต่การร่วมทุนผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอื่นๆ โดยในส่วนของสถานีชาร์จไฟฟ้าอีวีปีนี้ตั้งเป้าหมายจะมี 100 แห่ง
ศึกษาลู่ทางสกุลเงิน”ดิจิทัล” มีเงินสด 1 แสนล้านบาท
นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. กล่วว่า ปตท. ศึกษาเรื่องระบบสกุล เงินดิจิทัล กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้ตกกระบวนการทำธุรกิจ โดยในขณะนี้ยังไม่มีแผนกู้เงินเพิ่มเติม จากปีที่ 63 ปตท.มีการออกหุ้นกู้ รวม 6 หมื่นล้านบาท และถึงสิ้นปี มีกระแสเงินสดรวม 1 แสนล้านบาท ซึ่งการออกหุ้นกู้ดังล่าวก็เป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อภาพรวมของธุรกิจ และทำให้ ปตท.มีภาระดอกเบี้ยต่ำลง มีการคืนเงินกุ้ระยะยาวมากขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยกลางปี 63 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.2 และลดลงเป็นร้อยละ 4.5 ช่วงปลายปี 63 โดยภาพรวมแล้วปี 63 ทั้งกลุ่ม ปตท.ออกหุ้นกู้รวม 2 แสนล้านบาท และชำระเงินกู้ใช้ไปแล้วราว 1.2 แสนล้านบาทในปี 63 ส่วนปี 64 จะมีการออกหุ้นกู้เพิ่มเติมหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับโอกาสของการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ
เชื่อมั่น โครงการในเมียนมา ไม่สะดุด
นายอรรถพล กล่าวว่า ในส่วนของการลงทุนในเมียนมา ทางกลุ่ม ปตท.ทำธุรกิจร่วมกันมานับเป็นสิบสิบปี ก่อนที่ เมียนมา จะเปิดประเทศ ทั้งการซื้อก๊าซและลงทุนในแหล่งก๊าซ ยาดายา เยตากุน ซอติก้า ซึ่งแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงก็เชื่อว่าความร่วมมือจะราบรื่นเช่นเดิม
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวว่า โครงการ GAS TO POWER ในเมียนมา คาดว่า จะสามารถดำเนินการได้ หาก สถานการณ์ในเมียนมามีความชัดเจน โดยโครงการนี้ กลุ่ม ปตท.ลงทุนประมาณ 2 ล้านดอลลาร์สหรํบ สร้างท่อก๊าซ 370 กม.รับก๊าซจาก ยาดายา เยตากุน ซอติก้า ไปยังเมืองกันบ็อก และต่อท่อไปเมืองย่างกุ้ง เพื่อป้อนแก่โรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่ 600 เมกะวัตต์ หากเริ่มโครงการก็จะสร้างเสร็จใน 3-4 ปี สร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่เมียนมาและยังมีโอกาสจะสร้างท่อขนาดเล็ก อีก 60 กม. ส่งก๊าซไปยังนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่บ้านเรือนของรอบเมืองย่างกุ้งในอนาคต.
รอความชัดเจน กกพ.เรื่องระเบียบค้าเสรี แอลเอ็นจี
นายอธิคม กล่าวด้วยว่า ปตท.พร้อมแข่งขันตลาดเสรี แอลเอ็นจี โดยรอความชัดเจน จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร โดยเห็นว่า ควรแยกตลาด และไลเซ่นส์ ของปตท.ออกมาเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของความมั่นคงที่นำก๊าซฯป้อนแก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และลูกค้าของ กฟผ. อีกส่วนหนึ่งคือ ตลาดอุตสาหกรรมและอื่นๆ ซึ่ง ปตท.ก็พร้อมที่จะตั้งบริษัทแยกออกมาเพื่อดูแลทั้ง 2 ตลาด บนการแข่งขันที่เป็นธรรม-สำนักข่าวไทย