กทม.22 ก.พ.- อธิบดีกรม สบส.นำทีมตรวจคลินิกเสริมความงาม ซ.รามคำแหง 24 หลังหญิงวัย 54 ปี เสียชีวิตขณะรับบริการดูดไขมัน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นำโดยนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรม สบส. และทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. ลงพื้นที่ตรวจสอบคลินิกเสริมความงาม ซ.รามคำแหง 24 เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ หลังหญิงวัย 54 ปี เสียชีวิตขณะรับบริการดูดไขมัน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โดย สบส.ได้ตรวจสอบ ใบจดแจ้งสถานประกอบคลินิกเวชกรรม และผู้เป็นเจ้าของ รวมถึงผู้ที่ดำเนินการดูดไขมันผู้เสียชีวิต ว่ามีประกอบวิชาชีพแพทย์ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งหลังจากที่ ทีม สบส. เข้าไปตรวจสอบ โดยใช้เวลานานเกือบ 1 ชั่วโมง
นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า หลังจาก สบส. ได้รับข่าวว่ามีผู้เสียชีวิต จากการรับบริการดูดไขมัน จึงส่งทีมเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ จากการตรวจเบื้องต้น คลินิกแห่งนี้เปิดให้บริการประเภท ไม่รับผู้ป่วยค้างคืน อาคารของคลินิกมีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นเคาเตอร์ต้อนรับ ชั้น 2 เป็นชั้นที่ให้บริการเรื่องความงาม และเก็บอุปกรณ์ยา ชั้น 3 เป็นห้องผ่าตัดขนาดเล็ก
จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า ถูกมาตรฐานตามที่ขออนุญาต และมีการขออนุญาตจัดทำ ห้องผ่าตัดขนาดเล็ก ส่วนภายในห้องผ่าตัดที่เกิดเหตุ พบว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำเอาอุปกรณ์วัดสัญญานชีพ และเครื่องฟื้นคืนชีพไปเป็นพยานหลักฐานทางคดี
อย่างไรก็ตาม พบว่า คลินิกดังกล่าวเปิดบริการไม่ตรงกับเวลาที่ขออนุญาต โดยขออนุญาตคือช่วงเวลา 17.00-20.00 น.แต่ทราบว่าคลินิกดังกล่าวให้บริการตั้งแต่ 12.00 น. ซึ่งเบื้องต้นทาง สบส.จะดำเนินการไปแจ้งความในฐานดำเนินการประกอบกิจการสถานพยาบาลไม่ได้รับอนุญาต ตาม พรบ.สถานพยาบาล 2541 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
ส่วนกรณีผู้ป่วยเสียชีวิต ทาง สบส.จะทำหนังสือเชิญหมอที่ดำเนินการหัตถการกับผู้เสียชีวิตไปให้ข้อมูล กับทางแพทย์สภา เพื่อพิจารณาว่าดำเนินการไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ ซึ่งได้รับการบอกเล่าว่า หมอที่ทำการหัตถการ ได้พยายามช่วยฟื้นคืนชีพแล้ว แต่ไม่สำเร็จ
กรณีลูกของผู้เสียชีวิตได้ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดทางคลินิกถึงไม่ส่งผู้ตายไปโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วนนั้น ทางคลินิกชี้แจงว่า อยู่ในขั้นตอนระหว่างการส่งต่อ ซึ่งอาการของผู้เสียชีวิตในขณะนั้นไม่เหมาะกับการเคลื่อนย้ายเอง
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้เสียชีวิต ในระหว่างการดูดไขมันนั้น มองว่า การดูดไขมันเป็นหัตถการรักษาที่มีความเสี่ยง ตั้งแต่การใช้ยาเพื่อทำให้คนไข้ลดความเจ็บปวด เพราะยาบางชนิดอาจทำให้ความดันตก หรือ เกิดจากการใช้เครื่องมือสอดเข้าไป หากดูดไขมันออกในปริมานที่มากและรวดเร็ว อาจทำให้ร่างกายช็อกได้
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นจะยังไม่สั่งปลดสถานประกอบการ เพราะยังไม่ใช่ข้อหาร้ายแรง.-สำนักข่าวไทย