กรุงเทพฯ 18 ก.พ. – ส.อ.ท.ดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ สะดุดโควิด-19 ระลอกใหม่ ร่วงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เสนอรัฐปัดฝุ่น “ช้อปดีมีคืน” ใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเป็น 5 หมื่นบาทในปีนี้
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.2564 อยู่ที่ระดับ 83.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 85.8 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 6 เดือน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธ.ค.2563
ทั้งนี้ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่าระลอกแรกและขยายขอบเขตในหลายจังหวัด ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยกำหนดพื้นที่ควบคุมตามความรุนแรงของสถานการณ์ รวมทั้งมีความเข้มงวดในมาตรการรักษาระยะห่าง การจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการในร้านอาหารและสถานที่ต่างๆ
นอกจากนี้ ภาครัฐและเอกชนยังให้พนักงานทำงานจากที่บ้านมากขึ้น สถานศึกษายังปิดเรียนชั่วคราว โดยให้เรียนผ่านระบบออนไลน์ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับผู้ประกอบการส่งออกยังประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้น รวมทั้งปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ยังคงกดดันการส่งออกของไทย
นายสุพันธุ์ กล่าวว่าส.อ.ท.จึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้พิจารณาการนำโครงการช้อปดีมีคืนกลับมาใช้ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 บาท เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2564
ขณะเดียวกัน ขอให้ภาครัฐมีมาตรการเสริมสภาพคล่องช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากปัจจุบันการปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลนเพียง 1.22 แสนล้านบาท จากวงเงิน 5 แสนล้านบาท รวมทั้งแก้ไขกฎหมายและเงื่อนไขพ.ร.ก.ซอฟต์โลนยังเป็นอุปสรรค
อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค.จะต่ำสุดในรอบ 6 เดือน แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงกว่าการระบาดระลอกแรกในช่วงเดือนเม.ย.2563 ที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 75.9 เพราะการผลิตไม่ได้หยุดชะงัก และยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการ แรงงาน และประชาชนผ่านโครงการต่างๆ ยังช่วยหนุนเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดได้
สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลงลงอยู่ที่ 91.1 จากระดับ 92.7 ในเดือน ธันวาคม 2563 เนื่องจากผู้ประกอบการยังกังวลสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย และไทยยังไม่มีวัคซีน COVID-19 ฉีดให้ประชาชน จึงเสนอให้เร่งจัดซื้อและแจกจ่ายวัคซีนแก่ประชาชน เร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ และประเทศคู่ค้า แก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และขอให้รัฐพิจารณานำโครงการชอปดีมีคืนกลับมาใช้ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชน โดยคืนภาษีจากเดิม 30,000 เป็น 50,000 บาท . – สำนักข่าวไทย