สธ. 3 ก.พ.- กรมสุขภาพจิต เผยผลสำรวจสุขภาพจิตคนไทย พบจังหวัดที่มีการระบาดของโควิดสีแดง เครียด กลัวติดโรค ส่วนจังหวัดพื้นที่เขียว-ขาว กังวลกลัวคุมโรคไม่อยู่
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวในการแถลงข่าวเรื่องเช็กอินหัวใจในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ว่าจากการสำรวจสภาวะสุขภาพจิตของคนไทย พบว่ามีระดับความเครียดเพิ่มขึ้นและลดลงตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในช่วงการระบาดระลอกแรก มีความเครียดสูงสุดร้อยละ 8 และค่อยๆลดลงช่วงปลายปี จนมาถึงช่วงการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งนอกจากพบว่าเครียดแล้ว ยังมีภาวะของความตื่นตระหนกเพิ่มขึ้นมา ซึ่งจะสอดคล้องกับพื้นที่ของจังหวัดที่มีการระบาด โดยจังหวัดที่มีการระบาดมากก็มีความตื่นตระหนกสูง โดยจังหวัดพื้นที่โซนสีแดงจะกลัวการติดเชื้อ จังหวัดที่อยู่ในโซนสีขาวและเขียวจะกลัวเรื่องการควบคุมการระบาดไม่อยู่ ซึ่งในเรื่องของการกลัวการติดเชื้อนั้นเราสามารถป้องกันได้โดยสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้คลายความวิตกกังวลลงได้
พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า กลุ่มผู้ที่เข้ารับการกักตัวหรือกลุ่มผู้สัมผัสโรค พบว่า จะมีระดับความเครียดสูงสุดในช่วง 2 วันแรกของการกักตัว เพราะรอฟังผลว่าติดเชื้อหรือไม่ และหากพบว่าไม่ติดเชื้อและต้องกักตัวที่บ้าน 14 วัน ก็มีความเครียดเช่นกัน ซึ่งขอแนะนำให้กำหนดตารางชีวิตประจำวันทั้ง 14 วัน ว่าแต่ละวันจะทำอะไรบ้าง สำหรับผู้ที่ต้องเข้ารับการกักตัวในสถานที่กักตัวของรัฐ หากมีภาวะความเครียดหรือมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ขอให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลในสถานที่กักกันนั้น ซึ่งเราจะมีระบบการดูแลด้านสุขภาพจิต ส่วนประชาชนทั่วไป ขอให้มีการตรวจสอบสภาวะจิตใจ อารมณ์ของตนเอง โดยสามารถเข้าไปตรวจเช็กสุขภาพจิตได้ที่เว็บไซด์ของกรมสุขภาพจิตที่ Checking.dmh.go.th หรือ สายด่วน 1323
พณ.พรรณพิมล กล่าวว่า ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยขยับขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 6 ต่อแสนประชากรคงที่มา 5-6 ปี แต่ในปี 2563 พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จไต่ระดับขึ้น โดยเมื่อนำใบมรณบัตรที่ระบุสาเหตุการเสียชีวิตเป็นฆ่าตัวตาย พบว่าอยู่ที่ 7.3 ต่อแสนประชากร ส่วนภาวะอ่อนล้าทางอารมณ์หรือภาวะหมดไฟในคนทั่วไปอยู่ที่ ร้อยละ 6 แต่ในกลุ่มเปราะบาง คือ คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว คนที่ต้องกักกันตัว และญาติ จะอยู่ที่ร้อยละ 19.-สำนักข่าวไทย