สทนช. 13 ม.ค.- “พล.อ.ประวิตร” ประชุม กอนช. ย้ำทุกหน่วยบูรณาการการทำงาน เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมใต้ซ้ำซาก พร้อมให้ติดตามการดำเนินตามมาตรการแก้ภัยแล้ง การกักเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบประชุมทางไกล ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) อาคารจุฑามาศ ถนนวิภาวดีรังสิต กทม. พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่จังหวัดยะลาและปัตตานี ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือประชาชนและระดมสรรพกำลัง เครื่องจักร เครื่องมือเพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
“เร่งฟื้นฟูและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หามาตรการเชิงป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ ทั้งการเร่งรัดบูรณาการแผนงานและงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น ได้แก่ การซ่อมแซมอาคารบังคับน้ำ การขุดลอก ที่บางหน่วยงานปรับแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเบื้องต้นแล้ว อีกส่วนที่มีความจำเป็นและงบปกติไม่เพียงพอ สทนช.เตรียมรวบรวมแผนงานโครงการเสนอขอรับงบกลางปี 2564 ในเร็ว ๆ นี้ เร่งแผนระยะกลางและระยะยาวศึกษา สำรวจและออกแบบ โครงการแหล่งกักเก็บน้ำ โครงการบรรเทาอุทกภัยและก่อสร้างอาคารควบคุมน้ำเพื่อเก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง” พล.อ.ประวิตร กล่าว
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ในส่วนของการเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้งปี 2563/64 ที่ประชุมได้ติดตามสรุปผลการดำเนินงานตาม 9 มาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2563/64 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 63 โดยเป็นผลการดำเนินงานตั้งแต่ 1 พ.ย. 63 – 7 ม.ค. 64 พบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามแผน โดยก่อนหมดฝนอ่างเก็บน้ำทุกขนาดสามารถรับน้ำได้เพิ่มขึ้น 527 ล้านลบ.ม. การจัดหาแหล่งสำรองน้ำดิบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยในเขตบริการ ยังไม่มีสถานการณ์ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ขณะที่นอกเขตบริการการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) พบสถานการณ์ขาดแคลนน้ำแล้ว และให้ความช่วยเหลือบางพื้นที่แล้ว โดยแยกเป็นพื้นที่ชี้เป้าเฝ้าระวัง 9 ตำบล 6 อำเภอ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ตาก ลำพูน บึงกาฬ กำแพงเพชร และนอกพื้นที่เฝ้าระวัง 4 ตำบล 4 อำเภอ ใน 2 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์และลำปาง
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า สำหรับการปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีความพร้อมสำหรับการขึ้นบินในพื้นที่เป้าหมาย โดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่จังหวัดนครสวรรค์ และกำหนดรายงานผลการปฏิบัติการประจำทุกเดือน การกำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้งของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ปัจจุบันมีผลการจัดสรรน้ำสะสมแล้วรวม 3,603 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 31% ของแผน โดยพบว่ามีอ่างเก็บน้ำถึง 10 แห่งที่จัดสรรน้ำเกินแผน จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนตลอดฤดูแล้งนี้ถึงต้นฤดูฝนหน้าด้วย
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ส่วนการวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตร รายงานว่าปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ มีจำนวน 4.55 ล้านไร่ จากแผน 5.64 ล้านไร่ โดยมีจังหวัดที่เพาะปลูกนารอบที่ 2 มากกว่าแผนแล้ว 29 จังหวัด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ต้องมีมาตรการควบคุมการเพาะปลูกไม่ให้ขยายวงกว้างให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ แม่น้ำสายหลัก 4 สาย ซึ่งกอนช.ติดตามเฝ้าระวังพร้อมมีมาตรการควบคุมเพื่อไม่ให้กระทบต่อคุณภาพน้ำประปาเพื่อการบริโภคและการเกษตรของประชาชน โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำทะลุหนุนสูงที่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างในช่วงกลางเดือนนี้
“เน้นย้ำหน่วยงานภายใน กอนช.เร่งสร้างการรับรู้ความก้าวหน้าตาม 9 มาตรการหลักให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจและร่วมมือป้องกันผลกระทบช่วงฤดูแล้งเป็นไปตามแผนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในส่วนที่ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผน ได้มอบหมายให้หน่วยงานเสนอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว” พล.อ.ประวิตร กล่าว
พล.อ.ประวิตร กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการตามทุกข้อสั่งการของ กอนช. ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด รวมถึงเร่งดำเนินการทั้งโครงการเพื่อแก้ไขบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมติดตามขับเคลื่อนโครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการสำคัญในจังหวัดเพชรบุรี ปี 2565 – 2566 ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุได้ 21.13 ล้านลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 61,610 ไร่ และ 41,990 ครัวเรือน โดยเห็นชอบให้กรมชลประทานเร่งเตรียมความพร้อมและจัดลำดับความสำคัญโครงการสำคัญในพื้นที่ ให้กรมเจ้าท่าจัดทำแผนหลักงานขุดลอกบริเวณตอนปลายของแม่น้ำเพชรบุรีสายหลัก โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อไป ในส่วนการดำเนินการโครงการบรรเทาอุทกภัยจังหวัดเพชรบุรีตอนล่าง ให้กรมชลประทานเร่งเตรียมความพร้อมด้านการใช้ที่ดินและด้านแบบเพื่อก่อสร้าง
“ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะพื้นที่ระบายน้ำก่อนออกสู่ทะเล พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการแก้ไข เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้” นายสมเกียรติ กล่าว.-สำนักข่าวไทย