กรุงเทพฯ 8 ม.ค.-จีซี-กัลฟ์ เดินหน้า ผลิตเต็มที่ ไม่สะดุดจากมาตรการคุมเข้มระดับสูงใน ระยอง-ชลบุรี เผยปีนี้ มีกำลังผลิตเพิ่มจากโรงงานใหม่ที่แล้วเสร็จ ส่วนราคาแอลเอ็นจีตลาดโลกที่พุ่งขึ้น กัลฟ์ยังตามติด ก่อนตัดสินใจนำเข้าตามแผนกลางปีนี้หรือไม่
นายปฏิภาณ สุคนธมาน ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ (President) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี กล่าวว่า จีซีไม่ได้รับผลกระทบด้านการขนส่งและการผลิตสินค้า จาก กรณีที่จ.ชลบุรี และจ.ระยอง ถูกประกาศยกระดับเป็นพื้นที่ควบคุมระดับสูงเพื่อป้องกันแพร่ระบาดโควิด-19 จริงๆ ซึ่งการขนส่งทางบริษัท ปฏิบัติตามหลักของรัฐบาล มีการกรอกเอกสาร และขนส่ง โดยจีซี โลจิสติกส์ โซลูชั่น ซึ่งไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ในขณะที่ การผลิตของโรงงานททั้งหมดของจีซี ในระยองกว่า 20 แห่ง ก็เดิน เครื่องตามปกติ โดยการดำเนินการได้ใช้รูปแบบการดูแลป้องกันโควิด-19 ในปี ที่แล้วมาปรับใช้ และเข้มข้นขึ้นด้วยการตรวจ โควิด-19 ของพนักงานที่ทำงานในห้องควบคุมหรือคอนโทรลรูมทั้งหมดกว่า 300 ราย โดยพนักงานกลุ่มนี้มีการล็อคอัพ ให้ นอน ในพื้นที่กำหนด คือ ใน โรงแรมที่ บริษัทเช่าไว้ใน ระยอง 4-5 แห่ง ส่วนพนักงานในกลุ่มส่วนอื่นๆ ก็ให้เข้มงวดและพนักงานออฟฟิศก็ให้ทำงานที่บ้านเป็นหลัก
ในส่วนของการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ทั่วโลกจะกระทบต่อยอดจำหน่ายสินค้า หรือไม่คงจะต้องดูในระยะต่อไป แต่ปกติแล้วช่วงต้นปี ก่อนตรุษจีน ยอดสั่งซื้อจะน้อยอยู่แล้ว เพราะลูกค้าสั่งสต็อกวัตถุดิบไว้ล่วงหน้า ส่วนรายได้ปีนี้ ก็คงขึ้นอยู่กับทิศทางราคาน้ำมันที่ ปีนี้มีแนวโน้มจะสูงและไม่ผันผวนเหมือนปีที่แล้ว ซึ่งทาง กลุ่ม ปตท.ประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้ที่ประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตภาพรวมปีนี้จะสูงกว่าปีที่แล้ว เพราะ โรงงาน ใหม่ 3 โรงก่อสร้างเสร็จเริ่มผลิตตั้งแต่ปลายปี 63-ต้นปี 64 ได้ แก่ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration Project (ORP) ,โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide :PO) และโครงการโพลีออลส์ (Polyols)
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัท ไม่ได้รับผลกระทบ โดยโรงไฟฟ้า กัลฟ์ศรีราชา โรงไฟฟ้าไอพีพีโรงใหม่ 600 เมกะวัตต์จะเริ่มเข้าระบบในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ส่วนโควิด-19 รอบใหม่นี้จะไม่กระทบต่อบริษัทและยอดขายยังขยายตัวเพราะการจำหน่ายไฟฟ้าของกัลฟ์ร้อยละ 90 จำหน่ายแก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อีกร้อยละ 10 จำหน่ายแก่เอกชน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานแพคเกจจิ้ง อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งงโรงงานเหล่านี้เดินเครื่องได้ปกติและมียอดขายเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าว ของโรงไฟฟ้าไอพีพี 5 พันเมกะวัตต์ ที่กัลฟ์กำหนดทยอยจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แยกเป็น โรงไฟฟ้า GSRC อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 2,500 เมกะวัตต์ก่อน แบ่งการ COD ในยูนิตที่ 1 จำนวน 625 เมกะวัตต์ในวันที่ 1 มี.ค. 64 และยูนิตที่ 2 จำนวน 625 เมกะวัตต์ COD ในเดือน ต.ค. 64 รวมเป็น 1,250 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือของ GSRC อีก 1,250 เมกะวัตต์ (จำนวน 4 ยูนิต) COD ในปี 65 ขณะที่โรงไฟฟ้า GPD จ.ระยอง กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ ทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 66-67 ขณะที่ผลประกอบการปี 64 คาดว่าจะสูงกว่าปี 63 ร้อยละ 50 หรือมีรายได้จะอยู่ในระดับ 54,000 – 55,000 ล้านบาท เนื่องจากจะทยอยรับรู้รายได้จากการ COD โครงการโรงไฟฟ้า IPP นอกจากนี้ ยังทยอย COD โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Makong ในประเทศเวียดนามในเดือน มี.ค. 64 ราว 30 เมกะวัตต์ และในเดือน ต.ค. 64 อีก 98 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิต 128 เมกะวัตต์ รวมถึงจะได้รับปัจจัยหนุนจากการรับรู้รายได้เต็มปีของโครงการ BKR2 เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล (Offshore Wind Farm) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 464.8 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในทะเลเหนือ (North Sea) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเยอรมนี โดย GULF มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ราว 50%
นางสาวยุพาพิน ยังกล่าวถึงราคาก๊าซธรรมชาติเหลว ตลาดจร ( SPOT LNG ) ที่ในขณะนี้ ขยับขึ้นมาสูงกว่า 12 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ว่า ทางกัลฟ์ ติดตามสถานการณ์ว่าทิศทางราคาจะเป็นอย่างไร จะกระทบต่อแผนการนำเข้าที่กลุ่มกัลฟ์ตั้งใจนำเข้ามาล็อตแรกในกลางปีนี้หรือไม่ เพราะตามเป้าหมายคือการนำเข้ามาเพื่อให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำที่สุด ซึ่งคาดว่าราคาน่าจะขยับเป็นการชั่วคราวในช่วงหน้าหนาว และกัลฟ์ไม่มีแผนที่จะนำเข้า แอลเอ็นจีมาจำหน่ายแก่ภาคอุตสาหกรรมทั่วไปแต่อย่างใด และการนำเข้าก็จะไม่กระทบต่อสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่ทำไว้กับ บมจ. ปตท.แต่อย่างใด
ทั้งนี้ กัลฟ์ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (shipper) นำเข้า 3 แสนตันต่อปี โดยใช้สำหรับไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) จำนวน 19 โครงการของกลุ่มกัลฟ์ และ บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ GULF ถือหุ้น 49% กับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 51% ได้รับใบอนุญาตนำเข้า 1.4 ล้านตันต่อปี เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า สำหรับรโรงไฟฟ้าหินกอง จ.ราชบุรี ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2567 และปี 2568-สำนักข่าวไทย