กรุงเทพฯ 30 ธ.ค. – ธปท. เผย เศรษฐกิจ พ.ย. ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ไม่ทั่วถึง เฝ้าระวังการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2563 ทยอยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และหลายเครื่องชี้เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนด้วย โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน การใช้จ่ายที่ปรับดีขึ้นในทุกหมวด สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่มีทิศทางทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐและวันหยุดยาวพิเศษ ประกอบกับมีผลของฐานต่ำในปีก่อนทั้งในหมวดสินค้าคงทนและไม่คงทน ทั้งนี้ แม้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวของกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังเปราะบางสะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ยังสูง รวมทั้งยังมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้และพื้นที่
ด้านการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับดีขึ้นมากจากการนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่เปิดตัวช้ากว่าปีก่อน สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวน้อยลงจากยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่กลับมาขยายตัว
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ล่าช้า โดยรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวจากการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงขึ้นตามการลงทุนของรัฐบาลกลางด้านคมนาคมและชลประทาน ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว
ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้า มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 3.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน หดตัวน้อยลงสอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตร และสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงจากผลของมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังมีอยู่
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง ตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานทรงตัวและยังมีสัญญาณความเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลตามการเกินดุลการค้าที่ลดลงจากการนำเข้าทองคำที่สูงขึ้น และการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่มากขึ้น
ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามในปี 2564 คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ใหม่ระลอกในไทย อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศ พร้อมกันนี้หลายประเทศใช้มาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดขึ้น เพื่อจำกัดการระบาดของโควิด-19 แต่ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่มากเท่ากับรอบแรก และการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังมีสัญญาณเปราะบางและยังไม่ทั่วถึง . – สำนักข่าวไทย