ภูเก็ต 29 พ.ย.- ยอดค้ำประกันสินเชื่อพลิกฟื้น SMEs พุ่งแตะ 140,000 ล้านบาท พยุงรายใหม่ 130,000 ราย ประกาศแผน 2564 ชู 5 ยุทธศาสตร์ ปรับลุคองค์กรเติบโตยั่งยืน เตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS-9 วงเงิน 150,000 ล้านบาท และค้ำประกันสินเชื่อ Micro 4 วงเงิน 25,000 ล้านบาท เป็นของขวัญปีใหม่ให้เอสเอ็มอี
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ย. มียอดค้ำประกันสินเชื่อพุ่งแตะ 140,000 ล้านบาท สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ 130,000 ราย นับว่าช่วยผู้ประกอบการ SMEs ครั้งสำคัญในรอบ 29 ปี จึงทำให้การค้ำประกันสินเชื่อเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งด้านยอดการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ จำนวนลูกค้าใหม่ และจำนวนการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) ของ บสย. ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 เมื่อเทียบเทียบกับปี 2562 (ระหว่าง ม.ค.-ต.ค.62-63) ยอดการอนุมัติค้ำการค้ำประกันสินเชื่อ ปี 63 เพิ่มขึ้นร้อยละ 122 จาก 61,392 ล้านบาท เพิ่มเป็น 135,984 ล้านบาท และยังช่วยผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ เข้าถึงสินเชื่อ เพิ่มขึ้นร้อยละ 167 จาก 47,626 รายเป็น 127,054 ราย ขณะที่การอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) เพิ่มขึ้นร้อยละ 174 จาก 61,979 LG เพิ่มเป็น 169,959 LG
โครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ประสบความสำเร็จ เป็นผลงานโดดเด่น ในการช่วยแก้วิกฤติผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ผลักดันให้ธนาคารเดินหน้าปล่อยสินเชื่อ ได้แก่ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 เตรียมวงเงิน 100,000 ล้านบาท ช่วยผ่านโครงการพลิกฟื้นท่องเที่ยว ดีแน่นอน บัญชีเดียว ชีวิตใหม่ บรรลุเป้าหมาย 99% วงเงิน 99,000 ล้านบาท
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 บสย. SMEs สร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท มาตรการของรัฐบาลที่เปิดตัวในช่วงต้นปี 2563 ช่วยผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ ค้ำประกันเต็มวงเงินร้อยเปอร์เซ็นต์ 3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro entrepreneur ระยะ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ฐานรากและอาชีพอิสระ ค้ำประกันเต็มวงเงินร้อยเปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ บสย.ยังมีบทบาทสำคัญ เป็นกลไกช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเชื่อมโยงการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการสินเชื่อ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อเนื่อง ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส (Soft Loan+) วงเงิน 57,000 ล้านบาท รวมถึงความร่วมมือกับธนาคารออมสินในโครงการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 10,000 บาท นับว่าเป็นโครงการที่โดดเด่นมากในปีนี้ ด้วยการจัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F. A. Center) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ ชั้น 1 อาคารธนาคาร SME D Bank หวังยกระดับการให้บริการผู้ประกอบการ SMEs มากกว่าบทบาทการค้ำประกันสินเชื่อ “จากนายประกันสู่ที่ปรึกษาทางการเงิน”
กำหนดเป้าหมายให้ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs เป็น F.A. ภาครัฐ ช่วยเหลือ SMEs ไทย เป็นเพื่อน SMEs ทั้งให้คำปรึกษาทางการเงิน การเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน เป็นเพื่อนแท้ยามวิกฤต ผลตอบรับหลังการจัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F. A. Center) โดยมีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่ขอคำปรึกษาจาก บสย.มากกว่า 6,000 เคส สามารถทำสำเร็จได้แล้ว 2,000 ราย หรือประมาณร้อยละ 34
สำหรับแผนการดำเนินงาน บสย.ในปี 2564 ได้มุ่งเน้น 5 ยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับองค์กร สู่ New Business Model ได้แก่ 1. การผลักดันการเข้าถึงแหล่งทุนด้วยการเป็น Credit accelerator 2. การสร้างองค์ความรู้และโอกาสทางธุรกิจให้ SMEs และรายย่อยด้วยการเป็นเพื่อนคู่คิด (SMEs Growth Companion) 3. การเป็นตัวกลางเชื่อมโยง SMEs และรายย่อยสู่แหล่งทุนที่หลากหลาย (Funding Gateway) 4.การให้สินเชื่อแบบเฉพาะกลุ่ม ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ (Finance the unfinanced) 5.จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูล เพื่อสร้างฐานข้อมูล SMEs (SMEs data bank) โดยความร่วมมือกับพันธมิตรในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน
เป้าหมายการค้ำประกันสินเชื่อในปี 2564 ประมาณ 100,000 ล้านบาท ภายใต้แผนการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อที่หลากหลาย ตอบโจทย์ SMEs ทุกกลุ่ม ภายใต้กลยุทธ์การทำตลาด Segmentation และการพัฒนา Product เจาะกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน รวมถึงการขยายช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านช่องทาง Non bank เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ บสย.ยังเตรียมความพร้อมรองรับการอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อใหม่ 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS-9 วงเงิน 150,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันเงิน มั่นใจในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมถึงช่วยเหลือลูกค้า SMEs ที่มีปัญหา ภายใต้โครงการค้ประกันสินเชื่อ บสย.SMEs สร้างไทย เฟส 2 และ 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 4 วงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งมีวงเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญในการช่วยผู้ประกอบการ SMEs ฐานราก กลุ่มอาชีพอิสระ โดยให้ บสย.พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์เยียวยาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งทั้ง 2 โครงการกำลังอยู่ระหว่าง นำเสนอที่ประชุม ครม.ต้นเดือนธันวาคมนี้ พิจารณาเห็นชอบ เพื่อมอบโครงการนี้ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกอบการ SMEs.-สำนักข่าวไทย