กรุงเทพฯ 3 ธ.ค. – บสย.ส่งมาตรการด่วน เยียวยา “ลูกค้า-ลูกหนี้” น้ำท่วมภาคใต้ พักค่าธรรมเนียม-พักหนี้ 6 เดือน ช่วย SMEs ฟื้นฟูกิจการ
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้หลายจังหวัดประสบเหตุอุทกภัย สร้างผลกระทบต่อประชาชน และกิจการร้านค้าผู้ประกอบการ SMEs เป็นจำนวนมาก บสย. พร้อมเดินหน้าให้ความช่วยเหลือให้ SMEs ประคับประคองธุรกิจ และสามารถฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วม โดยออกมาตรการเร่งด่วน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประสบอุทกภัย และมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศ ดังนี้
1.มาตรการช่วยลูกค้า บสย. พักชำระค่าธรรมเนียมและค่าจัดการค้ำประกัน 6 เดือน สำหรับ SMEs ลูกค้า บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคใต้ปี 2567 และถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันและค่าจัดการค้ำประกัน ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม 2567 โดยลูกค้าที่มีสิทธิเข้ามาตรการนี้มีจำนวนรวม 3,385 ราย คิดเป็นภาระค้ำประกันรวม 2,071 ล้านบาท
2.มาตรการช่วยลูกหนี้ บสย. (ผู้ประกอบการ SMEs ที่ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยให้สถาบันการเงิน) พักชำระค่างวด 6 เดือน สำหรับลูกหนี้ บสย. ที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ผิดนัดชำระหนี้ ระยะเวลารับคำขอพักชำระ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม 2567
โดยพักชำระค่างวดที่ถึงกำหนดชำระเป็นระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน (หลังครบระยะเวลาพักชำระ 6 เดือน ให้ผ่อนชำระตามเงื่อนไขเดิม) โดยลูกหนี้ที่มีสิทธิเข้าร่วมมาตรการนี้มีจำนวนรวม 490 ราย คิดเป็นภาระหนี้รวม 292 ล้านบาท
นอกจากนี้ บสย. ยังได้เฝ้าติดตามสถานการณ์และผลกระทบอย่างใกล้ชิดในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมมอบหมายให้ บสย. สำนักงานเขตภาคใต้ตอนล่าง เร่งสำรวจลูกค้า และลูกหนี้ บสย. ที่ได้รับผลกระทบ และสื่อสารประชาสัมพันธ์มาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ตลอดจนระดมทีมงานลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังได้ส่งทีมงาน “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน” ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อให้คำแนะนำในการพลิกฟื้นธุรกิจอีกด้วย
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ลูกค้า และลูกหนี้ บสย. ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยตามประกาศของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สามารถปรึกษาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและรายละเอียดการเข้าร่วมมาตรการได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ หรือ ช่องทาง LINE OA : @tcgfirst และ บสย. Call Center โทร. 02-890-9999. -515- สำนักข่าวไทย