กรุงเทพฯ 17 พ.ย. – ด่วน!! ตัวแทนชุมชนหลังหมอชิตเก่ายื่นฟ้องนายกฯ-ครม. รมว.มหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองสูงสุด ให้เพิกถอน พ.ร.ฎ.กำหนดเขตเวนคืนที่ดินหลังหมอชิตเก่า ยกเหตุสร้างทางยกระดับเชื่อมคอมเพล็กซ์เอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ขณะที่การย้ายสถานี บขส.กลับหมอชิตเก่ายังไม่มีความชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานนี้ (16 พ.ย.) ตัวแทนประชาชนชุมชนหลังหมอชิตเก่าที่ได้รับผลกระทบจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2563 เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายทางยกระดับเชื่อมระหว่างอาคารอู่จอดรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้ากับถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งประกาศไว้ ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2563 ได้ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อศาลปกครองสูงสุด
ขอให้ศาลเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนฯ และขอทุเลาการบังคับใช้ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เนื่องจากสะพานยกระดับดังกล่าวไม่ได้จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาการจราจร หากแต่เป็นไปเพื่อสร้างทางเชื่อมต่อให้แก่โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิตกับถนนวิภาวดีรังสิตและทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์ และโครงการดังกล่าวเน้นประโยชน์เชิงพาณิชย์ของเอกชนมากกว่าการจัดทำบริการสาธารณะ จากโครงการนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 712,350 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ชดเชยให้ราชการใช้ประโยชน์เพียง 15.72% คือ 112,000 ตารางเมตร ส่วนที่เหลืออีก 84.28% หรือ 600,350 ตรม. เป็นพื้นที่หาประโยชน์เชิงพาณิชย์ของเอกชนทั้งสิ้น
โครงการประกอบด้วยอาคารด้านทิศเหนือ 36 ชั้น อาคารด้านทิศใต้ 32 ชั้น ชั้นใต้ดิน 4 ชั้น แบ่งเป็นศูนย์การค้าชั้น B2 ถึงชั้น 7, สถานี บขส.ชั้น3 ถึงชั้น5 ศูนย์ประชุมชั้น 8, โรงแรมชั้น13-34, เซอร์วิสอพาร์ทเม้นชั้น 35, อาคารสำนักงานชั้น 14-30, อาคารจอดรถชั้น B1-B4 ชั้น3 ชั้น6 และชั้น 7M
นอกจากนี้ การย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต2) กลับมายังพื้นที่หมอชิตเก่าตามที่ระบุไว้ในโครงการนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน โดยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เคยออกมาระบุว่า บขส.จะต่อสัญญากับ รฟท. เพื่อขอเช่าพื้นที่หมอชิต 2 ต่อไป และยืนยันว่าขณะนี้ บขส. ไม่มีนโยบายย้ายหมอชิต 2 กลับมาที่หมอชิตเก่า เนื่องจากพื้นที่หมอชิต 2 ปัจจุบันมีระบบขนส่งสาธารณะที่พร้อมเชื่อมต่ออยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง และเชื่อมต่อสายสีเขียว รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ ที่จะเปิดให้บริการปี 64-65 ที่รองรับรถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมือง และยังใกล้อู่รถเมล์ ของ ขสมก. และสถานีจอดรถตู้ในบริเวณใกล้เคียงด้วย ซึ่งจะทำให้สะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะของประชาชนมากกว่า
สำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนเพื่อโครงการนี้ เนื้อที่รวมกันประมาณ 16,205.265 ตารางวา มูลค่าตลาดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3,241.05 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย