กรุงเทพฯ 2 ต.ค. – กระทรวงคมนาคม เผยข้อมูลจุดตัดรถไฟกับถนนที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก 34 แห่งทั่วไทย รวมกับจุดตัดใกล้สถานีคลองแขวงกลั่นที่รถบัสกฐินประสบอุบัติเหตุถูกรถไฟพุ่งชนดับ 19 ศพ โดยจัดงบ กปถ. 29.5 ล้าน ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากช่วงเช้าที่ผ่านมานายชยธรรม พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้เรียกผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกรมการขนส่งทางราง หารือจากปัญหาอุบัติเหตุรถไฟชนกับรถบัสกฐินบริเวณจุดตัดใกล้สถานีคลองแขวงกลั่น ล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 19 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังอุบัติเหตุทำให้เกิดการสูญเสียเมื่อวานที่ผ่านมา เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมสั่งให้ รฟท.เร่งเยียวยาผู้ประสบเหตุเต็มที่ ขณะนี้มียอดเสียชีวิตรวม 19 ราย บาดเจ็บ 44 ราย ส่วนการตรวจสอบเยียวยาตามกฎหมายและการประกันภัยนั้น พบว่ารถที่ประสบเหตุทำประกันภัยภาคบังคับกับบริษัท อาคเนย์ ประกันภัย ซึ่งผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชยตามกรมธรรม์คนละ 500,000 บาท บาดเจ็บจะได้รับเงินชดเชยคนละ 80,000 บาท นอกจากนี้ รถคันดังกล่าวยังมีประกันภัยภาคสมัครใจประเภท 3 ซึ่งจะให้ความคุ้มครองผู้เสียชีวิตอีกคนละ 500,000 บาท รวมไม่เกิน 10 ล้านบาท
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาจุดตัดรถไฟกับถนนโดยเฉพาะจุดเกิดเหตุดังกล่าว ล่าสุดกระทรวงคมนาคมสั่งการให้ รฟท.ประสานขอรับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) วงเงิน 4-5 ล้านบาท เพื่อทำการก่อสร้างเครื่องกั้นในจุดเกิดอุบัติเหตุนี้ รวมทั้งเร่งซ่อมระบบสัญญาณไฟเตือนรถที่จะข้ามให้กลับมาใช้งานได้โดยเร็ว นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้สั่งการให้ รฟท.เร่งทำการสำรวจจุดตัดรถไฟกับถนนทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นจุดตัดที่อยู่บนถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยข้อมูลกรมการขนส่งทางรางเบื้องต้นมี 621 แห่ง อย่างไรก็ตาม รมว.คมนาคม ต้องการให้ รฟท.ทำการสำรวจจำนวนล่าสุดอีกครั้ง รวมถึงลักษณะกายภาพของจุดตัดต่าง ๆ ด้วย
วันนี้ข้อมูลของ รฟท.และกรมการขนส่งทางรางยังระบุถึงข้อมูลจุดตัดรถไฟกับถนนที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน หรือ Black Spot ซึ่งมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งระหว่างปี 2558-2562 จำนวน 34 จุด และเมื่อรวมกับจุดตัดที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อวานที่ผ่านมาจะมี 35 จุด การแก้ไขปัญหาจุดตัดดังกล่าวกระทรวงคมนาคมขอให้มีการจัดสรรงบประมาณจาก กปถ.เช่นกันวงเงิน 29.5 ล้านบาท เพื่อศึกษาปัญหาทางกายภาพและแนวทางแก้ไขปัญหา เนื่องจากพบว่าทั้ง 35 แห่ง 9 แห่งเป็นจุดตัดที่มีเครื่องกั้นแล้ว แต่ยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแม้บางจุดจะมีเครื่องกั้น แต่หากประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยก็ยังจะเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้อยู่ดี โดยแนวทางแก้ปัญหานั้น จะไปศึกษารายละเอียดว่าหากจุดตัดใดแม้จะมีเครื่องกั้นแล้ว แต่ไม่ปลอดภัยจำเป็นต้องปิดทำรั้วกั้นก็ให้ดำเนินการ จุดตัดใดจำเป็นแก่ผู้ใช้ทางและจะต้องก่อสร้างสะพานข้ามก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการด่วน
รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาปัญหาจุดตัดรถไฟกับถนนได้มีการแก้ไขตั้งแต่ปี 2557 โดยจุดตัดที่อยู่ในเขตถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว ส่วนจุดตัดถนนกับรถไฟที่อยู่ในถนนของ อปท. แนวทางในอนาคตก็จะต้องให้ อปท.ทำเรื่องเสนอความต้องการทำเครื่องกั้น โดยขอข้อมูลทางวิชาการจาก รฟท.เสนอผ่านจังหวัด เพื่อขอจัดสรรงบประมาณจากกระทรวงมหาดไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกระบุถึงรถเกิดอุบัติเหตุจังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อวานนี้ รถคันดังกล่าวกรมฯ พบว่ามีการจดทะเบียนเป็นรถ 42 ที่นั่ง แต่มีการโดยสารถึง 62 คน แน่นอนว่าจะต้องมีผู้โดยสารยืนสุ่มเสี่ยงเกิดอันตรายมากขึ้นหากรถประสบอุบัติเหตุ รวมทั้งรถคันดังกล่าวขาดต่อทะเบียนภาษีประจำปีตั้งแต่สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยกรมฯ ได้ดำเนินการสั่งปรับผู้ประกอบการรายนี้ในฐานความผิดดังกล่าว จำนวน 50,000 บาทไปแล้ว ไม่รวมฐานความผิดอื่น ๆ .- สำนักข่าวไทย