กทม. 11 ต.ค.- พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า รวมตัวภาคประชาชน เปิดตัวกลุ่ม Re-solution เดินหน้าสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ และมีสภาเดี่ยว พร้อมชงรื้อสัดส่วนศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ใช้เสียง 2 ใน 3 ถอดถอนได้ แต่ใช้เวลานานกว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะสำเร็จ เชื่อรัฐบาล “ประยุทธ์” อยู่เกินเทอม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 4 เครือข่ายต้านรัฐธรรมนูญ ได้แก่ คณะก้าวหน้า, กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (Con Lab), พรรคก้าวไกล, และกลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดตัวกลุ่ม Re-solution ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อเดินหน้าแสวงหาฉันทามติใหม่ร่วมกัน โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (Con Lab) นายรังสิมันต์ โรม รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล นายยิ่งชีพ อัชชานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
นายปิยบุตร กล่าวตอนหนึ่งว่า ถึงเวลาอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ หมดเวลาของรัฐธรรมนูญที่สืบทอดมาจากฉันทามติที่รัฐบาลใช้อำนาจโดยมิชอบ แซกแทรงองค์กรอิสระ มี ส.ว. และเสียงข้างน้อยทำลายความน่าเชื่อถือ
“ปัจจุบันการแก้รัฐธรรมนูญอาจจะไม่สำเร็จ เพราะ ถูกออกแบบให้แก้ได้ยาก จนไม่มีทางแก้ได้ รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 จึงรอเวลาที่จะปะทุ เพราะสถาบันการเมืองไม่ฟังเสียงของประชาชน และขังสิทธิเสรีภาพประชาชน” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวว่า ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาชนต้องมีอำนาจเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นของประชาชน ที่ทุกฝ่ายต้องหาข้อตกลงในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันร่วมกัน เพราะอำนาจสูงสุดของประเทศ คือ ประชาชนที่จะเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศเอง
ด้านนายพริษฐ์ กล่าวถึงการสนับสนุนให้การเมืองไทยมีเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือสภาเดี่ยว ว่ารัฐธรรมนูญ 60 ต้องแก้ในมาตรา หรือข้อที่สนับสนุนอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ให้น้อยลง หรือยกเลิก ส.ว. เพราะ ส.ว. เข้ามาควบคุมโครงสร้างของระบบการปฏิรูปการเมืองได้
“ความผิดปกติในปัจจุบัน 5 ประการ คือ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีโดยไม่ได้มีที่มาจากประชาชน, ขัดขวางทุกการปฎิรูปควบคุมได้ทุกโครงสร้าง, ที่มาด่างพร้อยและเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน, ขาดความหลากหลายทางวิชาชีพ และความเชี่ยวชาญ ไม่ได้มาแบบอาชีพที่หลากหลาย, รวมถึงยังบกพร่องในหน้าที่การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจตรวจสอบของสภาฯ การเมืองไทยสามารถยกเลิกสภา ส.ว. และใช้เพียงสภาเดี่ยว เพราะจะมีความรวดเร็วในการออกกฎหมาย ประหยัดงบประมาณในการดำเนินงานต่างๆ ของ ส.ว. การปรับเข้าสู่ระบบสภาเดี่ยวใช้เวลาสั้นในการออกแบบ และมีความเป็นประชาธิปไตย ระบบการเมืองในประเทศ และปัจจุบัน ระบบสภาเดี่ยวใช้ในหลายประเทศ หาก ส.ว. จะมารับตำแหน่ง ต้องลาออกจากอาชีพของตน และมีความรู้ด้านกฎหมาย รักษาผลประโยชน์ในแต่ละท้องถิ่น ให้สามารถบริหารการเมืองท้องถิ่นตนเองได้ และมีอำนาจในการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ไม่ให้พรรคการเมืองรวบอำนาจ แต่ทั้งนี้ ต้องให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบอำนาจบริหารได้”นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวว่าหน้าที่ของ ส.ว.นั้น คนอื่นก็ทำได้ หรืออาจจะดีกว่า ทั้งการอัดฉีดความรู้เฉพาะทางตอนกลั่นกรองกฎหมาย รักษาผลประโยชน์ของทุกจังหวัด แต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ ถอดถอนนักการเมืองที่ขาดคุณสมบัติ และตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร พร้อมทิ้งท้ายว่า สิ่งที่อันตรายกว่าการไม่มี ส.ว. มาตรวจสอบอำนาจรัฐคือ การ มี ส.ว.ที่คอยให้ท้ายรัฐบาลในทุกเรื่อง
ขณะที่นายรังสิมันต์ สนับสนุนให้รื้อศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เพราะศาลรัฐธรรมนูญและองค์การอิสระถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งกระบวนการสรรหาและคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน จึงเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้มีองค์ประกอบ 9 คนเหมือนเดิม ซึ่ง 3 คนมาจากการเลือกจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อีก 3 คน มาจากการเลือกของ ส.ส.ฝ่ายค้าน และอีก 3 คน ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอชื่อมา และให้ศาลปกครองเสนอชื่อมาอีก 3 คน จากนั้นใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 จากสมาชิกสภผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกให้เหลือ 3 คน ขณะที่เสนอให้องค์กรอิสระทุกองค์กร ประกอบไปด้วยผู้ดำรงตำแหน่ง 5 คน ซึ่ง 2 คนมาจากการเลือกของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คนถัดมา มาจากการคัดเลือกของ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ 1 คนให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอชื่อมา รวมถึงให้ที่ประขุมใหญ่ศาลปกครองเสนอชื่อมาอีก 1 คน และใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกให้เหลือ 1 คนเช่นกัน พร้อมยังมองว่าศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต้องมีกระบวนการถอดถอนได้ โดยใช้เสียงข้างมาก 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ถอดถอน
“ผมเห็นว่าการมีศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระยังจำเป็น เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล แต่ถ้าปล่อยให้องค์กรเหล่านี้เลือกกันเองชงกันเอง บ้านเมืองเราในอนาคตก็จะไม่แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น เราจะปล่อยให้บ้านเมืองของเราเป็นแบบเดิมหรือไม่ วันนี้จึงเป็นเวลาและโอกาสในการเปลี่ยนแปลง” นายรังสิมันต์ กล่าว
ขณะที่นายยิ่งชีพ กล่าวว่า สำหรับกระบวนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนั้น แม้ว่าใน พ.ย.นี้ สภาฯจะโหวตรับข้อเสนอการตั้ง ส.ส.ร. แต่จากนั้นยังต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ใช้เวลาอีกนานกว่าจะผ่านวาระ 2 และวาระ 3 จากนั้นยังต้องผ่านการทำประชามติจากประชาชน นอกจากนั้นการประกาศใช้อาจมีขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญอีกขั้น รวมทั้งกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เมื่อส.ส.ร.ร่างเสร็จ ก็ยังต้องผ่านประชามติ ถือเป็นขั้นตอนอีกยาวนาน ซึ่งใน 3 ปีข้างหน้า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังอยู่ในสถานะต่อไปตามกลไกรัฐธรรมนูญปี 60 อาจครบเทอมหรือเลยเทอม พร้อมย้ำว่า ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ไม่มีโควตาพิเศษผู้ทรงคุณวุฒิใดๆ ทั้งสิ้น และหากมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ต้องไม่มีการแบ่งเขตจังหวัด เพราะอาจมีคนที่เป็นพื้นที่อิทธิพลของตัวเองอยู่ ดังนั้น ควรใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง.-สำนักข่าวไทย