สุราษฎร์ธานี 25 ก.ย.63 – กรมทรัพยากรธรณี โชว์ความพร้อมพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาพุนพิน แหล่งรวบรวมความรู้ทางธรณีวิทยาในภาคใต้ของไทย ตั้งเป้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
กรมทรัพยากรธรณี พาชมความพร้อมของพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาพุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา แห่งที่ 7 ของประเทศ โดยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางวิชาการด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา เป็นคลังเก็บตัวอย่างสำหรับเก็บรักษาธรณีวัตถุที่ค้นพบในภาคใต้ อีกทั้งยังได้เติมวิทยาการสมัยใหม่เป็นศูนย์เรียนรู้ธรณีพิบัติภัยที่สมบูรณ์แบบแห่งเดียวที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี และหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ มีความต่างด้านธรณีวิทยากับภาคอื่นๆ ซึ่งมีจุดเด่นสามารถเป็นแหล่งศึกษาทางธรณีวิทยา ข้อมูลสำคัญในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ และรับมือภัยพิบัติต่างๆได้ อีกทัฃ้ยังมีศักยภาพพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการ ด้านธรณีวิทยา สำหรับนักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว และประชาชนที่สนใจ
โดยในอาคารแบ่งเป็นโซนการเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา ชม Tree of Life เป็นภาพนูนต่ำของซากดึกดำบรรพ์ เช่น ไทโลไบต์ นอติลอยด์ ฟอสซิลหอย แอมโมไนด์ ไดโนเสาร์ ลิงสยาม และสโตมาโตไลต์
โซนหุ่นจำลองไดโนเสาร์ การกำเนิดของโลก ระบบสุริยะจักรวาล และส่วนประกอบของโลก สัมผัสความหลากหลายทางทะเลดึกดำบรรพ์ ชีวิตดึกดำบรรพ์จากทะเลสู่บก ตั้งแต่มหายุคพาลีโอโซอิก ซึ่งค้นพบซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศที่ภาคใต้ ศึกษาแหล่งแร่หินที่มีความจำเพาะเป็นประโยชน์ที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังมีห้องจำลองสถานการณ์สำหรับเรียนรู้ถึงธรณีพิบัติภัยด้านต่างๆ เสมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์จริง นำเสนอด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้าใจเข้าถึงสาเหตุและการป้องกันภัยพิบัติได้ง่ายขึ้น โดยขณะนี้พิพิธภัณฑ์พุนพิน มีความคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 90 คาดว่าจะเริ่มทดลองเปิดให้เข้าชม เป็นแหล่งศึกษาทางธรณีที่ทันสมัยแห่งใหม่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปลายปี 2563.-สำนักข่าวไทย