กกต. 22 ก.ย.-“ศรีสุวรรณ” แย้งเลขาฯ กกต.ตัดตอน 31 พรรคการเมืองกู้เงิน เตรียมยื่นให้ทบทวน และเรียกร้องให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) จะเดินทางไปยื่นหนังสือ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ทบทวนความเห็นและให้ 7 กกต.มีมติส่งกรณีเงินกู้ของ 31 พรรคการเมืองให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยไม่เห็นด้วยที่นายทะเบียนพรรคการเมืองเห็นชอบให้มีการยุติเรื่องการตรวจสอบว่าพรรคการเมือง จำนวน 31 พรรคที่มีการกู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของพรรคการเมือง เป็นการกระทำหรือนิติกรรมที่ขัดต่อ มาตรา 62 ประกอบมาตรา 72 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เช่นเดียวกับที่มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยอ้างว่าทุกพรรคมีสิทธิกู้ยืมเงิน หรือยืมเงินทดรองจ่ายจากหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคฯ ไม่เกิน 10 ล้านบาท ต่อคน ต่อพรรค ต่อปี ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไว้ในคดียุบพรรคอนาคตใหม่ จึงถือว่าการกู้ยืมเงินของทั้ง 31 พรรคไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 5/2563 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยชัดแจ้งว่าการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ต้องอาศัยรายได้ของพรรคการเมือง ซึ่งกฎหมายกำหนดแหล่งที่มาไว้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 62 ดังนั้นเงินส่วนใดที่พรรคการเมืองนำมาใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ไม่ได้มีแหล่งที่มาและวิธีการได้มาตามที่กฎหมายระบุไว้ ย่อมถือว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบ และถึงแม้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ไม่ได้บัญญัติห้ามการกู้ยืมสำหรับพรรคการเมืองไว้โดยชัดเจน แต่ก็ไม่ได้รับรองว่าให้กระทำได้ ประกอบกับพรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน และเงินกู้ยืมแม้ไม่ได้เป็นรายได้แต่ก็เป็นรายรับ และเป็นเงินทางการเมือง การดำเนินการเกี่ยวกับการได้มาและการใช้จ่ายเงินเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จึงกระทำได้ภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
“คำวินิจฉัยชี้ชัดว่าการกู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของพรรคการเมือง เป็นการกระทำหรือนิติกรรมที่ไม่ปรากฎในมาตรา 62 ประกอบมาตรา 72 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ชี้ชัดถึงขนาดนี้แล้ว แต่เหตุใดนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงรีบตัดตอน ไม่นำความดังกล่าวรายงานให้ กกต.เพื่อมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นกระบวนความตามครรลองของกฎหมาย เหตุใดจึงกล้าที่จะวินิจฉัยเอาเสียเองเช่นนี้ จะถือว่าชอบด้วยกฎหมายได้อย่างไร” นายศรีสุวรรณ กล่าว.-สำนักข่าวไทย