เมืองทองฯ 21 ก.ย.- นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเรื่อง “วิถีชีวิตใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด” เตือนอย่าประมาทโควิด-19 แม้ไม่มีผู้ป่วยในประเทศ ระบุแนวคิดพัฒนาประเทศต้องพร้อมรับ ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงเพื่อเติบโต ปรับแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อรับมือโควิด-19 ขอทุกคนเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย นำไปฏิบัติอย่างถูกต้อง เคารพกฎหมายและสิทธิของผู้อื่น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการประชุมและกล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมประจำปี 2563 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกวันนี้โลกกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ คือ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ สังคม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ที่ผ่านมาทุกคนในประเทศไทยพยายามอย่างเต็มที่ที่จะป้องกันโควิด-19 แม้ผลที่ออกมาจะน่าพอใจ และผู้ติดเชื้อในประเทศยังคงเป็นศูนย์ แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ ต้องเตรียมตัว ปรับตัวพร้อมเผชิญความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า รวมถึงต้องเดินหน้าต่อไปในเชิงรุกตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ โดยต้องปรับให้มีการเตรียมรับมือแบบ New Normal และที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยลดภาระให้ประชาชน โดยโครงการต่าง ๆ จะต้องส่งต่อจากปีงบประมาณ 2563 ไปยังปีงบประมาณ 2564 และสิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่รอดได้ในสถานการณ์เช่นนี้ และคาดว่าโควิด-19 จะยังไม่จบง่าย ๆ เพราะขณะนี้หลายประเทศยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบริหารประเทศจะมีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จบ้าง แต่เชื่อว่าการดำเนินงานของรัฐบาลจะช่วยให้ประเทศดีขึ้น ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจของทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ไม่ใช่ว่าไทยบริหารราชการล้มเหลวเพียงประเทศเดียว ทุกคนต้องช่วยกันทำให้ประเทศเกิดความปรองดอง ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีศักดิ์ศรีและความเท่าเทียม ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศคือความรักชาติ รักแผ่นดิน จะเป็นรากฐานที่มั่นคงให้กับทุกคน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า แม้ทุกประเทศจะล้มกันหมด แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องหาวิธีลุกขึ้นให้ได้โดยเร็ว ซึ่งแนวคิดในการพัฒนาความสามารถของประเทศ จะต้อง พร้อมรับ ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโต จะต้องมีการปรับแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อรับมือโควิด-19 ซึ่งต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และต่อเนื่องไปยังฉบับที่ 13 โดยกำหนดประเด็นการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือ การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ การยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคน ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเฉพาะการพัฒนาจิตใจ ที่เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่จะเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันพัฒนาจิตใจให้ประเทศมีความแน่นแฟ้น มีความสามัคคี พร้อมเผชิญปัญหา และสุดท้าย การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสนิมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกอย่างจะดำเนินการได้ ต้องมีความความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ที่ต้องร่วมมือกัน และทุกอย่างต้องรวมพลังกัน ทุกคนเป็นคนไทย ที่ต้องมีส่วนร่วมให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมมุ่งมั่นสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งปัญหาหลายอย่างสะสมมาเป็นเวลานาน รัฐบาลพยายามแกะปมปัญหาออกมาแก้ไข หวังว่าจะเห็นประชาชนเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย มีความสร้างสรรค์ นำไปฏิบัติอย่างถูกต้อง ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ เคารพกฎหมายและสิทธิของผู้อื่น.-สำนักข่าวไทย