กรุงเทพฯ 19 ก.ย.- กฟผ. แก้ไขสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเกาะภูเก็ตขัดข้องสำเร็จ กู้ไฟฟ้าดับกลับคืนได้ใน 12 นาที ด้าน MEA แนะนำวิธีป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า ในขณะที่ กรมเชื้อเพลิงฯ ยืนยัน พายุโนอึล ไม่ส่งผลกระทบแหล่งผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย
นายจรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน ในฐานะรองโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงกรณีไฟฟ้าดับในพื้นที่เกาะภูเก็ตเป็นเวลาประมาณ 12 นาที ในวันนี้ (19 กันยายน 2563) ว่า เมื่อเวลา 10.08 น. สายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 กิโลโวลต์ ภูเก็ต 3 – ภูเก็ต 1 วงจร 1 ของ กฟผ. เกิดขัดข้องชั่วขณะ และ เจ้าหน้าที่ กฟผ. ได้เร่งเข้าแก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุด โดยสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเมื่อเวลา 10.19 น.
นางสาวผาสุก สัมปุณณะโชติ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA กล่าวว่า MEA มีความห่วงใยประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน “โนอึล” ขอแนะนำให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่เป็นลักษณะแอ่งกระทะน้ำท่วมบ่อยครั้ง รวมถึงชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ราบลุ่ม ควรดำเนินการย้ายปลั๊กไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าขึ้นที่สูงให้พ้นจากระดับน้ำท่วมถึง เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ารั่ว และอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด และ ควรตรวจสอบโครงสร้างป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงมั่นคงปลอดภัย และตรวจสอบระยะห่างของป้ายโฆษณากับสายไฟฟ้าให้มากขึ้นเพราะอาจส่งผลกระทบกับระบบไฟฟ้าอาจทำให้ไฟฟ้าดับ และขอให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณา ต้นไม้ใหญ่ และสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงใกล้แนวสายไฟฟ้า เพราะกิ่งไม้อาจหักโค่นจากลมกระโชกแรงและพาดลงมาทำให้เสาไฟฟ้าล้ม หรือสายไฟฟ้าขาด เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งขอแนะนำให้ประชาชนตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าหากชำรุดเร่งซ่อมแซมแก้ไข และสำรวจต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณบ้านของตนเอง ให้กิ่งไม้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่ระสายไฟฟ้าเพราะอาจทำให้ไฟฟ้าดับ รวมไปถึงอาจจะทำให้มีกระแสไฟฟ้ารั่วมาตามกิ่งไม้ที่เปียกน้ำจากฝนฟ้าคะนองได้
สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านระบบไฟฟ้านั้น MEA ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์โดย จัดเจ้าหน้าที่ดูแลระบบไฟฟ้า ติดตามตลอด 24 ชั่วโมง หากประชาชนพบเห็นสายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าของ MEA ชำรุด แจ้งได้ทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย และ MEA Call Center 1130
นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ โฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า บริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยทุกบริษัท มีแผนเตรียมความพร้อมรับมือในกรณีหากพายุโซนร้อน “โนอึล” เคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณอ่าวไทย โดยขณะนี้สถานการณ์ยังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง และไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยแต่อย่างใด
“การประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของพายุจะแบ่งเป็น 4 ระดับตามสี โดยเรียงลำดับจากระดับความเสี่ยงน้อยไปจนถึงความเสี่ยงมากที่สุด ประกอบด้วย สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง โดยสถานการณ์ปัจจุบัน แหล่งผลิตปิโตรเลียมทุกแหล่งในอ่าวไทยมีระดับความเสี่ยงอยู่ในระดับสีเขียว ซึ่งยังไม่มีความรุนแรงถึงขั้นที่ต้องอพยพพนักงานจากแท่นผลิตปิโตรเลียมขึ้นฝั่ง ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้กำชับให้บริษัทผู้รับสัมปทานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในกรณีที่พายุทวีความรุนแรงขึ้น โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรบนแท่นผลิต และการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ” โฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกล่าว-สำนักข่าวไทย