สำนักข่าวไทย 19 ก.ย..-จิตแพทย์ขานรับมติ สพฐ.ไม่ให้เด็กสอบเข้าเรียนชั้น ป.1พบเด็กมีความเครียดเร็วขึ้น ปัญหาสำคัญที่กระตุ้นคือเรื่องของการเรียน
แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการ สถาบันราชานุกูล ให้สัมภาษณ์กรณี สพฐ. มีมติไม่ให้เด็กสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 เพราะเด็กจะเกิดความเครียดว่า ในฐานะจิตแพทย์เห็นด้วยมากๆ ซึ่งพบว่าเด็กเดี๋ยวนี้มีความเครียดเร็วขึ้น แล้ว จากแต่ก่อนจะเครียดในช่วงวัยรุ่น ตอนนี้คนไข้ของหมอมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เกิดจากความเครียดของเด็กมาเร็ว โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีการเปรียบเทียบกันระหว่างพี่น้อง หรือกับครอบครัวอื่นๆ ซึ่งคาดว่าสาเหตุมาจากการสอบแข่งขัน และการติวหนังสือ
แพทย์หญิงมธุรดา กล่าวต่อว่า เด็กในวัยอนุบาล การเล่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของเขา เมื่อมีความเครียดจะมีปัญหาส่งผลต่อการเรียน การกิน การนอน เกิดพฤติกรรมที่ผิดปกติเร็วขึ้น สถิติของกรมสุขภาพจิต ยังพบว่าเด็ก 11 ขวบก็มีการฆ่าตัวตายสำเร็จแล้ว เพราะมีปัญหาที่กระตุ้นคือเรื่องของการเรียน จากการได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ตามปกติเมื่อเด็กสอบไม่ได้จะมีความรู้สึก ผิดหวัง แต่ไม่ใช่การผิดหวังเพราะสอบไม่ได้แต่เป็นเพราะทำให้คุณพ่อคุณแม่ผิดหวัง เพราะก่อนหน้านี้เด็กถูกเตรียมการให้ติวหนังสือ จากเหตุเพราะพ่อแม่ต้องการแสวงหา สิ่งที่ดีให้ลูก จึงเกิดการแข่งขันสูง เด็กเล็กยังมีความแตกต่างจากเด็กโต ตรงที่ความเสียใจที่เกิดขึ้น มาจากการทำให้พ่อแม่ผิดหวัง เพราะคนที่สำคัญที่สุดของเขาคือพ่อแม่ แต่เด็กโตนั้นความเสียใจเกิดจาก การรู้สึกขายหน้า
ดังนั้นในต่างประเทศจึงมีการเปิดกว้าง สร้างความเท่าเทียมให้กับเด็ก อยู่ในโรงเรียนที่ใกล้บ้าน ปลอดภัยดี ยกระดับมาตรฐานโรงเรียนให้เท่ากัน. .”หมอเห็นด้วยที่ สพฐ. เริ่มมีมาตรการดีดี แบบนี้ออกมา อาจจะเริ่มที่โรงเรียนในสังกัดก่อน ส่วนโรงเรียนอื่นเช่นสาธิตเป็นสังกัดอื่น อาจจะค่อยมีมาตรการทำตามกันมาทีหลังก็ได้ เป็นจุดเริ่มต้น จุดประกายเพราะ สพฐ.เป็นสังกัดที่มีโรงเรียนเยอะที่สุด ถ้าทำได้ถือว่าลดภาระให้กับพ่อแม่ และลดความเครียดให้กับเด็กได้ ตลอดจนลดคนไข้ให้หมอด้วย”แพทย์หญิงมธุรดา กล่าว
สำหรับคนไข้จิตเวชเด็กที่เข้ามาปรึกษา มีตั้งแต่ระดับอนุบาล บ่นว่าแทนที่จะได้เล่นหรือหยุดพักกับเพื่อน เค้าต้องเสียเวลาไปกับการ เรียนเสริมที่เค้าไม่ได้อยากเรียนเลย และเมื่อพูดไม่ได้ก็จะมีอาการแสดงออกทางพฤติกรรม เช่นหงุดหงิด ก้าวร้าว เก็บกด เงียบ เก็บตัวไปเลย
ส่วนความเห็นต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อไม่ให้มีผลกับการจบก็ของเด็กนั้น ตนมองว่าผู้ใหญ่หลายคนกำลังทำตรงนี้อยู่ สิ่งแรกคืออยากให้ผู้ปกครองและผู้ใหญ่เปลี่ยนมุมมองก่อน รวมทั้งเด็กเองว่า การศึกษาเป็นเพียงแค่จุดจุดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความรู้และทักษะ แต่สำหรับในศตวรรษหน้านอกจากการมีความรู้แล้ว เด็กยังต้องมีทักษะในการดำรงชีวิตด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่ได้มาด้วยการเรียน จะได้มาจากการใช้ชีวิตร่วมกันตามหลักจิตวิทยา เด็กจะเลียนแบบการใช้ชีวิต จากพฤติกรรมแสดงออกของพ่อแม่ หรือการรวมกลุ่มกันของเพื่อน มองว่าถ้าเราเปลี่ยนมุมมอง การศึกษาของไทยได้แล้ว มาตรฐานการศึกษาก็จะเท่ากัน อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือให้มองศักยภาพของเด็ก เพราะเด็กทุกคนมีศักยภาพแตกต่างกันไม่ใช่ทุกคนต้องเป็นหมอ หลายอาชีพก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ที่ทำให้เศรษฐกิจและประเทศพัฒนาไปได้ เด็กคนหนึ่งเรียนไม่เก่งด้านนี้อาจเก่งด้านอื่น การมองเช่นนี้จะทำให้เด็กลดความเครียดลง และผู้ปกครองมีทางเลือกมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดเราคงไม่อยากมีหมอทั้งประเทศ แต่อยากมีคนอาชีพอื่นๆเก่งในหลายด้านด้วย
สุดท้ายอยากให้กำลังใจคุณพ่อคุณแม่ ว่าเราอยากให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก เช่นเดียวกัน ลูกเราก็มีสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเขาที่เราต้องค้นหาให้เจอและสนับสนุนเขา ในทางนั้น ที่สำคัญอย่าเอาลูกเราไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เด็กแต่ละคนมีอัจฉริยภาพต่างกัน ค้นหาให้เจอและคุณพ่อคุณแม่จะภาคภูมิใจไปกับตัวลูกด้วย.-สำนักข่าวไทย