กรุงเทพฯ 14 ก.ย. – “สุพัฒนพงษ์” มั่นใจแบงก์ชาติดูแลปัญหาหนี้ทั้งระบบได้ แม้ครบกำหนดระยะเวลาการยืดชำระหนี้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เดินหน้าร่วมมือพัฒนานวัตกรรมกับ อว.สร้างความมั่นใจ ยืนยันเดินหน้าปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรมต่อเนื่อง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวร์ รองนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลัง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงพลังงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการกำหนดกรอบทิศทางและการบริหารจัดการงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน เพื่อร่วมกำหนดกรอบนโยบายและทิศทางงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี ว่า เป็นการแสดงความร่วมมือที่ชัดเจนเพื่อตอกย้ำว่าไทยพัฒนานวัตกรรมรองรับทิศทางในอนาคต เช่น ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ประกอบกับไทยมีมาตรการเข้มแข็งด้านสาธารณสุข ที่ป้องกันการระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี และการที่มีเสถียรภาพด้านการเงิน มีความช่วยเหลือของคนในประเทศผู้ที่เข้มแข็งช่วยเหลือคนที่อ่อนแอกว่า ช่วยกันประคับประคองเศรษฐกิจ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ดีขึ้นเมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จบลง
ส่วนกรณีที่หลายคนเป็นห่วงมาตรการพักชำระหนี้ของภาคประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะครบกำหนดเวลา หลังจากที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมมือกับธนาคารต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือประชาชนด้วยการการเลื่อน, ขยายเวลา การชำระหนี้ บ้าน รถยนต์ บัตรเครดิตและอื่น ๆ ไปแล้วนั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่า ธปท.จะดูแลได้ เพราะ ธปท.ติดตามปัญหานี้มาตลอดเวลาตั้งแต่เดือนเมษายน และเตรียมทางออกที่ดีไว้แล้ว เช่น “โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง” (โครงการดีอาร์บิส) ซึ่งช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายให้ได้รับการบรรเทาภาระหนี้และให้มีกลไกในการจัดการหนี้กับสถาบันการเงินทุกแห่งได้อย่างบูรณาการ จึงเชื่อว่าธุรกิจของลูกหนี้สามารถฟื้นตัวได้ และปรับตัวให้เท่าทันกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง
นายสุพัฒนพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า จะนำข้อเสนอของกลุ่มผีเสื้อกระพือปีกที่ให้สานต่อการพิจารณาปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรมมาหารือต่อ โดยอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่แท้จริง ซึ่งก็มีข้อเสนอในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ก๊าซฯ ราคาพืชพลังงาน เป็นต้น
นายณกานต์ จันธิราชนารา แกนนำกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก กล่าวว่า เรื่องโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรมก็อยากให้กระทรวงร่วมกับภาคประชาชนทำงานต่อหลังจากเดิมที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน ได้ริเริ่มไว้ โดยที่ผ่านมาทำงานเสร็จไปด้านเดียว คือ การปรับลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นฯ 50 สตางค์/ลิตร ช่วยประชาชนได้ 18,000 ล้านบาท ซึ่งโครงสร้างราคาน้ำมัน ก๊าซฯ เอทานอล ไบโอดีเซล ภาษีต่าง ๆ ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน โดยประชาชนแบกภาระเรื่องต้นทุนพืชพลังงาน โดยกรอบการหารือ ก็จะให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ที่เป็นธรรม ระหว่างประชาชน ภาครัฐ และเอกชน
ทั้งนี้ นายสุพัฒน์พงษ์ และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. ได้ร่วมสักขีพยานในการลงนามระหว่าง 2 กระทรวง กำหนดกรอบนโยบายและทิศทางงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ชัดเจน สอดคล้องนโยบายพลังงานของชาติตามแผนบูรณาการพลังงานระยาว 20 ปี และเป็นก้าวสำคัญในการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจที่เป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยเพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับความร่วมมือจะมีการพัฒนานวัตกรรม 5 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1.DIGITALIZATION เช่น การพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการพลังงานแบบอัจฉริยะ 2.DECARBONIZATION การลดคาร์บอน ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่มีปล่อยคาร์บอนน้อยลง 3.DECENTRALIZATION การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รองรับการกระจายศูนย์สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ 4.DE-REGULATION การผ่อนปรนกฎระเบียบ การเปิด Sandbox ให้เกิดการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมด้านพลังงาน ส่งเสริมให้เกิด Start Up ด้านพลังงาน และ 5.ELECTRIFICATION เช่น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า.-สำนักข่าวไทย