กรุงเทพฯ 12 ก.ย. – ส.ป.ก.เร่งช่วยเกษตรกรจังหวัดกาญจนบุรี หลังถูกหลอกเข้าร่วมโครงการปลูกไผ่จีน เจรจาจำหน่ายเป็นหนี้สูญ พร้อมเรียกค่าเสียหายจากบริษัทในสัญญา
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวถึงกรณีที่เกษตรกร 30 คนจากจังหวัดกาญจนบุรีเข้าพบนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อร้องทุกข์ กรณีปี 2550 สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรีชักชวนชาวบ้านในพื้นที่ ส.ป.ก.เข้าร่วมโครงการปลูกต้นไผ่จีนหรือไผ่กิมซุง ตามบันทึกข้อตกร่วมกับบริษัทเกษตรทิพยสมบัติ จำกัดและ ส.ป.ก. โดยให้ชาวบ้านทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อนำมาลงทุน ส่วนบริษัทจัดหาต้นพันธุ์มาจำหน่ายราคาต้นละ 160 บาท ทั้งนี้ ตามข้อตกลงระบุว่าบริษัทจะสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อรับซื้อผลผลิตจากชาวบ้าน แต่ภายหลังไม่ได้มีการรับซื้อผลผลิตนั้น
นายวิณะโรจน์ กล่าวว่า ตั้งแต่รับตำแหน่งเลขาฯ ส.ป.ก.เร่งแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำให้ดูแลเรื่องนี้อย่างดีที่สุด ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการโครงการและการเงินกองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (อกก.คง.) ประชุมเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาดังนี้ เสนอขอแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญให้เกษตรกร 283 รายที่มีหนี้ค้างชำระภายถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 เป็นเงิน 17,298,759.73 บาท แบ่งเป็น เงินต้น 16,408,358.37 บาท ดอกเบี้ย 890,374.36 บาท ตามกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ด้วยสาเหตุโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จและสาเหตุภัยธรรมชาติ เพื่อนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ (กบส.) ต่อไป
นอกจากนี้ ยังเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่มีวินัยทางการเงินและชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว โดยการสนับสนุนสินเชื่อเงินกองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมสำหรับเป็นทุนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม วงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ปลอดการชำระเงินต้น 3 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปีโดยกำหนดชำระคืนใน 5 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 ร้อยละ 0 ต่อปี ปีที่ 2 ร้อยละ 1 ต่อปี และปีที่ 3-5 ร้อยละ 2 ต่อปี
สำหรับการแก้ปัญหา ทาง ส.ป.ก.ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าเสียหายที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการเพื่อจะใช้สิทธิ์เรียกร้องให้บริษัท เกษตรทิพยสมบัติ จำกัด ซึ่งยืนยันว่าส่งฟ้องดำเนินคดีกับบริษัท สวนเกษตรทิพยสมบัติ จำกัด เพื่อใช้สิทธิ์เรียกร้องให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายจากการที่บริษัทกระทำผิดหน้าที่และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2550 อีกทั้งจำเป็นต้องขอให้เกษตรกรชำระหนี้บางส่วนหรือรับสภาพหนี้หรือรับสภาพความรับผิด เพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลงและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเสนอขอแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยการจำหน่ายหนี้เป็นสูญ ตามกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐ กรณีศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ตามยอม ลูกหนี้ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา หากลูกหนี้ผิดนัดต้องบังคับคดีกับลูกหนี้ทุกคน รวมผู้ค้ำประกันภายในระยะเวลา 10 ปี
นายวิณะโรจน์ กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2548 ซึ่งเห็นชอบแผนแก้ไขปัญหาความยากจนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้ดำเนินงานโครงการความร่วมมือไตรภาคีปี 2550 ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 แก่วิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ที่กู้เงินจากกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ และเข้าร่วมโครงการความร่วมมือไตรภาคีปี 2550 โดย ส.ป.ก.จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัทสวน เกษตรทิพยสมบัติ จำกัด เรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการโครงการผลิตพืชผักและไม้ยืนต้น
ต่อมาคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) กาญจบุรี แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรระหว่างปี 2550-2552 อนุมัติให้เกษตรกรที่จดทะเบียนจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนภายใต้โครงการความร่วมมือไตรภาคี (ปลูกไผ่กิมซุ่ง) ร่วมกับบริษัทในพื้นที่ดำเนินการ 7 อำเภอ สามารถกู้ยืมเงินกองทุน 41 กลุ่ม 361 ราย รายละ 30,000 – 90,000 บาท เนื้อที่ปลูก 1-3 ไร่ ไร่ละ 30,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 23,977,300 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อปี
ภายหลัง ส.ป.ก.ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ตัวแทนบริษัทซึ่งมีหน้าที่ดูแลและส่งเสริมเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ทำได้ไม่ทั่วถึงและด้อยประสิทธิภาพ ไม่เป็นตามที่ตกลงกันไว้ พื้นที่ปลูกไผ่กิมซุ่งในบางแห่งไม่เหมาะสมเนื่องจากต้องมีระบบให้น้ำ เมื่อปลูกในพื้นที่แห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตน้อย บริษัทให้ราคาของหน่อไม้แต่ละขนาดไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญา ต้นทุนการดูแลไผ่กิมซุ่งค่อนข้างสูง เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการจึงขาดทุน ไม่สามารถชำระหนี้ได้
ที่ผ่านมา คปจ.กาญจนบุรีได้ช่วยเหลือ โดยมติที่ประชุมครั้งที่ 1/2553 ให้ขยายเวลาชำระหนี้ 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี อีกทั้ง ส.ป.ก.กาญจนบุรีได้รื้อถอนไผ่ให้เกษตรกร 37 ราย ส.ป.ก.เสนอขอจำหน่ายหนี้เป็นสูญตามที่ ครม.ได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ต่อมาปี 2562 กบส. ขอให้ ส.ป.ก. จัดทำเอกสารและข้อมูลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสาเหตุที่โครงการไม่ประสบความสำเร็จ โดยจัดทำผลการศึกษาการดำเนินงานโครงการจัดเก็บแบบสอบถามข้อมูลลูกหนี้เป็นรายคน
“ส.ป.ก.หารือสำนักงานอัยการสูงสุดเรื่องการดำเนินการทางคดีกับบริษัท ซึ่งได้รับความเห็นว่า ส.ป.ก. สามารถใช้สิทธิ์ฟ้องดำเนินคดีแพ่งได้ ซึ่ง ส.ป.ก.ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติว่า อยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและดำเนินคดีกับบริษัทที่ทำผิดข้อตกลงแล้ว” นายวิณะโรจน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย