รัฐสภา 9 ก.ย.- “จุรินทร์” แจงสภา ฯ ตัวเลขส่งออกไทยดีกว่าหลายประเทศ ปลื้ม! ราคายางขึ้นเพราะมาตรการรัฐบาล
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องวิกฤตทางเศรษฐกิจและวิกฤติทางการเมือง ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา
นายจุรินทร์ กล่าวว่า กรณีสมาชิกพรรคพูดถึงตัวเลขการส่งออกที่ติดลบในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาขอทำความเข้าใจว่าตัวเลขส่งออกติดลบในขณะนี้นั้นเป็นสถานการณ์ที่กำลังเผชิญกันอยู่เกือบทุกประเทศทั่วโลก เพราะนอกจากสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อระหว่างจีนกับสหรัฐ และยังมีการปรับรูปแบบไปสู่ความตึงเครียดยิ่งขึ้นในบางช่วง ซ้ำเติมมาด้วยสถานการณ์โควิด ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวอัตราการเจริญเติบโตน้อยลง ที่เรียกว่าเศรษฐกิจโลกหดตัว ประเทศไทยได้รับผลกระทบและตัวเลขการส่งออกของทุกประเทศในโลกก็ล้วนได้รับผลกระทบตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ ประเทศไทย -7.7% แต่เมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลกแล้ว ตัวเลขของเราไม่ได้น่าวิตกไปกว่าประเทศอื่น เช่น อินเดีย -22.4% ญี่ปุ่น -14.6% เกาหลี – 10.6% ฟิลิปปินส์ -17.8% สิงคโปร์ -10.3% และมาเลเซีย-9.4% เป็นผลกระทบมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะวิกฤตโควิดที่ทุกประเทศได้รับผลเช่นเดียวกัน
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทางออกของประเทศไทยในสถานการณ์วิกฤตนั้น ท่านนายกได้จัดตั้งองค์กรขึ้นมาแก้ปัญหาในสถานการณ์พิเศษที่เรียกว่า ศบค.เศรษฐกิจ หรือศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการะบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ กระทรวงพาณิชย์ได้ก็จะตั้ง คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์(กรอ.พาณิชย์)ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติภารกิจร่วมกันระหว่างส่วนราชการกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนทำงานอย่างใกล้ชิด ว่าทำอย่างไรผ่อนหนักให้เป็นเบาที่สุดในเรื่องของตัวเลขการส่งออกและรูปแบบการค้าการส่งออกได้มีการปรับรูปแบบเข้าสู่ยุค New Normal การปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการค้าออฟไลน์เป็นการค้าแบบออนไลน์ พัฒนาไปถึงขั้นเรียกว่าการค้ารูปแบบไฮบริดที่ผสมระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ ประสานกันเพื่อทำตัวเลขการส่งออกให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปรากฏผลเป็นอย่างดี
และรัฐบาลได้สร้างทัพนักธุรกิจยุคใหม่ที่เรียกว่าทัพนักธุรกิจการค้าออนไลน์ขึ้นมาทั้งเพื่อให้มีศักยภาพในเรื่องการค้าออนไลน์ในประเทศและด้านการส่งออกโดยให้การอบรมให้ความรู้เป็นกรณีเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเรียนจบมหาวิทยาลัย กระทรวงพาณิชย์ก็มีนโยบายและโครงการชัดเจนที่ต้องการปั้นคนเหล่านี้ที่เรียกว่าคนเจนซีให้เป็นซีอีโอ(Gen Z to be CEO) เพื่อสร้าง ซีอีโอเจนซีขึ้นมาให้มีศักยภาพและมีความรู้ในการที่จะค้าออนไลน์และเป็นทัพหน้าในการนำรายได้เข้าประเทศต่อไปในอนาคต เริ่มต้นดำเนินการแล้วใน 7 มหาวิทยาลัยในภาคเหนือและจะทำในทุกภาคทั่วประเทศของไทยต่อไปตั้งเป้าหมายว่าในปีนี้เราจะทำให้ได้ 12,000 คน เป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ได้ดำเนินการเรื่องการแก้ปัญหาการส่งออกในยุค New Normal
สมาชิกท่านหนึ่งได้พูดในเรื่องของการส่งออกข้าว ว่าประเทศไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวไปเรียบร้อยแล้วและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ออกข่าววิงวอนรัฐบาลให้เร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวขึ้นมา ขอขยายความเพิ่มเติมรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ทำงานร่วมกันมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการหารือร่วมกันเร่งรัดการส่งออกตลอดระยะเวลาทั้งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ข้าวและใน กรอ.พาณิชย์ การเสียแชมป์ส่งออกนั้นประเทศไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวมาตั้งแต่ปีช่วงที่มีการดำเนินการโครงการจำนำข้าวไม่ได้เพิ่งเสียแชมป์แต่เราเสียแชมป์ส่งออกข้าวมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ในช่วงปี 60-61เรากลับมาเป็นแชมป์อีกครั้งหนึ่ง เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งระบายข้าวที่ค้างอยู่ในสต๊อกจำนวนมากออกไป ทำให้ตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้นมา
เวลานี้ใต้สถานการณ์โควิด ไม่ได้แปลว่าการส่งออกข้าวเลวร้ายในทุกตลาดยังมีบางตลาดที่ยังขยายตัวได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะข้าวพรีเมี่ยมหรือข้าวเกรดคุณภาพสูง เช่น ข้าวขาว 100% โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตรเลีย ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 15 สาเหตุที่การส่งออกข้าวช่วงนี้ประสบปัญหาเพราะนอกจากสถานการณ์โควิดแล้วราคาเราสู้คู่แข่งไม่ได้ ต้นทุนข้าวของเราสูงกว่าประเทศคู่แข่ง และในปัจจุบันเราขาดความหลากหลายของพันธุ์ข้าวที่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงเป็นที่มาที่ท่านนายกฯเป็นประธาน นบข.มอบหมายให้ผมดำเนินการไปจัดทำยุทธศาสตร์ข้าว มาถึงจุดนี้เราสามารถดำเนินการมียุทธศาสตร์ข้าวขึ้นมาเสร็จเรียบร้อยแล้วรอนำเข้าที่ประชุม นบข.อีกครั้งและเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยยุทธศาสตร์ข้าวชุดใหม่นี้จะมีอายุ 5 ปีนับตั้งแต่ปี 63 ถึง 67 มีวิสัยทัศน์ว่าจะทำประเทศไทยให้เป็นผู้นำการผลิตการตลาดข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าวของโลก โดยใช้ยุทธศาสตร์”ตลาดนำการผลิต”โดยแบ่งตลาดเป็น 3 เกรด 1.ตลาดพรีเมี่ยม 2.ตลาดทั่วไป และ 3.ตลาดเฉพาะข้าวที่จะมุ่งเน้นประกอบด้วย ข้าว 7 ชนิด 1.ข้าวหอมมะลิ 2.ข้าวหอมไทย 3.ข้าวพื้นนุ่ม 4.ข้าวพื้นแข็ง 5.ข้าวนึ่ง 6.ข้าวเหนียวและ7.ข้าวสีต่างๆ ที่มีตลาดเฉพาะมีการตั้งเป้าชัดเจนเพื่อสนองต่อตลาดข้าวในอนาคตที่จะกลับมาเป็นแชมป์อีกครั้งหนึ่งในวันข้างหน้า
1.การลดต้นทุนการผลิตว่าจะลดต้นทุนการผลิตข้าวจากไร่ละ 6,000 บาทเป็นไม่เกิน 3,000 บาทภายในระยะเวลา 5 ปี
2.จะเพิ่มผลผลิตจากปัจจุบันเฉลี่ยผลิตได้ไร่ละ 465 กิโลกรัมเป็น 600 กิโลกรัมต่อไร่ และในเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศตั้งเป้าว่าประเทศไทยภายใต้รัฐบาลที่จะเดินหน้ามุ่งเน้นผลิตเม็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติ “สั้น เตี้ย ดก ดำ” โดยมีตัวเลขชัดเจนว่า 1.จะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มอย่างน้อย 4 สายพันธุ์ 2.พันธุ์พื้นแข็ง 4 สายพันธุ์ 3.ข้าวหอมไทย 2 สายพันธุ์ 4.ข้าวโภชนาการสูง 2 สายพันธุ์ อย่างน้อย 12 พันธุ์ใน 5 ปีเพื่อสนองต่อความต้องการของตลาด
ปีนี้จัดประกวดพันธุ์ข้าวไปแล้ว จะจัดอีกครั้งหนึ่งปลายปีนี้เพื่อเร่งรัดให้ทั้งเอกชนและนักวิชาการผู้ที่มีศักยภาพ เร่งทำการวิจัยผลิตข้าวพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อนำมาประกวดจัดเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศในเรื่องการส่งออกข้าวต่อไป แล้วปีต่อไปจัดปีละครั้ง รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายที่มีความชัดเจนในเรื่องข้าวที่เป็นรูปธรรม
และสมาชิกอีกท่านหนึ่งได้พูดถึงพืชเกษตรตัวอื่นนอกจากข้าว ว่ามีเรื่องมันสัมปะหลัง ยางพารา ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน ยังเป็นปัญหา ความจริงคือสถานการณ์ไม่ได้เลวร้าย อย่างน้อยที่สุด ช่วงฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาราคาพืชเกษตรสำคัญดีเกือบทุกตัว เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ช่วงนี้ ราคาตกตันละ 9,100 ถึง 10,000 บาทต่อเกวียน มันสำปะหลังราคาตกกิโลกรัมละ 2.20 บาท ข้าวโพดความชื้น 14.5% ตกกิโลกรัมละ 8.70 บาท ปาล์มเมื่อวานราคาทางการ กิโลกรัมละ 3.80 บาทถึง 4.20 บาทหน้าโรงงาน และยางพาราสองสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาไปถึงกิโลกรัมละ 60 บาทแล้วสำหรับยางแผ่นรมควันชั้นสาม ที่ราคาดีขึ้นนั้น นอกจากปัจจัยภายนอกทั้งราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ตลาดล่วงหน้าก็ปรับตัวสูงขึ้น ความต้องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำยางข้นขายดีขึ้น ประกอบกับภาวะทางภูมิศาสตร์ในบางประเทศผู้ผลิต เช่น ฝนตกหนัก แรงงานขาดแคลนเป็นต้น ปัจจัยภายในก็มีผลสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้ราคายางดีขึ้นโดยเฉพาะมาตรการเชิงรุกของรัฐบาลชุดนี้ เช่นที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการนำทัพเอกชนไปบุกตลาดต่างประเทศหลายประเทศด้วยกัน การลงนามเอ็มโอยู กับจีน อินเดีย ตุรกี และในหลายประเทศ วันนี้เราได้ตัวเลขหลายหมื่นล้าน หลังเร่งรัดการส่งมอบ ที่มีผลไม่มากก็น้อยในการช่วยกระตุ้นให้ยางในประเทศสามารถระบายไปยังต่างประเทศได้ มีการลงนามเอ็มโอยู 511,500 ตันเป็นเงิน 47,991 ล้านบาท ส่งมอบไปแล้ว 145,940 ตันเป็นเงิน 12,835 ล้านบาท ในช่วงภาวะวิกฤตโควิด และกำลังทยอยส่งมอบ
และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ นำยางไปทำหลักนำทาง เสาหลักกิโล รวมทั้งทำกำแพงคอนกรีตแบบครอบแผ่นยาง อนุมัติในงบประมาณปี 64 จำนวน 39,175 ล้านบาท งบประมาณปี 65 จำนวน 43,995 ล้านบาท รวม 83,170 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นตลาดให้เห็นว่าในอนาคต ภาครัฐมีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นและมีผลในการกระตุ้นยกระดับราคายางในประเทศให้สูงขึ้น
และมาตรการในเรื่องของการตลาด เพื่อระบายยาง กระทรวงพาณิชย์จะจัดพบปะระหว่างผู้นำเข้าจากต่างประเทศกับผู้ส่งออกยางไทยบนช่องทางออนไลน์ เพื่อทำตัวเลขการส่งออกทั้งผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง ที่นอน หมอนยางพารา เบาะรถนั่ง เป็นต้น โดยเน้นตลาดอียู ตลาดจีน ตลาดอินเดีย ตลาดเกาหลีและตลาดญี่ปุ่น เป็นต้น เดือนพฤศจิกายนจะมุ่งเน้นสินค้านวัตกรรมอย่างโดยการจะให้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานพบปะระหว่างผู้นำเข้ากับผู้ส่งออกไทย เดือนมีนาคมปีหน้าจะเน้นเรื่องผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ และผู้ประกอบการอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับรถยนต์ มีการเตรียมจัดงาน international rubber expo ในไทย โดยภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เตรียมจัดงานเอ็กซ์โปใหญ่ เพื่อขยายช่องทางการตลาดอย่างผลิตภัณฑ์ยางนวัตกรรมให้เป็นเวทีพบปะระหว่างผู้ซื้อผู้นำเข้าผู้ส่งออกผู้ขายของไทยภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด” และในอนาคตของยางไทยภายใต้รัฐบาลชุดนี้ การที่เรามุ่งเน้นจะทำให้ประเทศไทย “ฮับของถุงมือโลก” การยางแห่งประเทศไทยได้ชักจูงผู้ลงทุนจากประเทศสเปน ประเทศจีนมาลงทุนทำโรงงาน เพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตถุงมือยาง ดึงนักลงทุนมาได้แล้วประมาณ 10 ราย แต่ละรายจะลงทุนประมาณ 1,000 ถึง 1,500 ล้านบาท
และสุดท้ายประเด็นที่เพื่อนสมาชิกพูดถึงในเรื่องของล้ง ท่านบอกว่าเราไม่ควรจะปล่อยให้ล้งต่างด้าวมาตั้งในประเทศไทย ควรไล่ออกจากแผ่นดินให้หมด ขอเรียนว่าล้ง คือผู้รับซื้อผลไม้และรับซื้อไปเพื่อกระจายในตลาดทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก ล้งจะประกอบด้วย 2 ประเภท คือ 1.ล้งที่เป็นคนไทย 2.ล้งที่เป็นคนต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้รวบรวมผลผลิตและกระจายผลผลิตในต่างประเทศ นำไปสู่การส่งออกในต่างประเทศ ผลจะเกิดข้อดีกับเกษตรกร ผมไปประชุมที่จันทบุรีร่วมกับเกษตรกรผู้ส่งออก เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมามีการร้องเรียนเรื่อง ล้งเอาเปรียบเกษตรกร ถ้าอย่างนั้นเราควรกำจัดล้งให้ออกไปจากประเทศนี้หรือไม่ เกษตรกรบอกว่าอย่า เดี๋ยวจะไม่มีคนมาซื้อผลผลิตเพราะล้งไทยไม่พอที่จะรองรับผลผลิตของเกษตรกร ล้งต่างประเทศยังมีความจำเป็นเพียงแต่ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดกำกับอย่าให้เขาเอาเปรียบเกษตรกรไทย และเรื่องลำไย ว่ามีการร้องเรียนว่าทำอย่างไรจะอนุญาตให้ล้งจีนข้ามประเทศมาซื้อในประเทศได้ สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้เพราะต้องถูกกักตัว 14 วัน เราแก้ด้วยการค้าออนไลน์ ขณะนี้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแล้วในการช่วยชาวสวนลำไยในภาวะวิกฤตและเจอภัยแล้ง อนุมัติช่วยชาวสวนลำไยไร่ละ 2,000 บาท ครัวละไม่เกิน 25 ไร่
มาตรการกำกับล้ง 1.เราจะบังคับให้ใช้สัญญาของกระทรวงพาณิชย์เพื่อความเป็นธรรมของทั้งล้งและเกษตรกร ไม่เอาเปรียบกัน 2.ต้องบังคับใช้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวให้ล้งต่างประเทศรับซื้อเพื่อการส่งออกเท่านั้น 3.พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าปี 60 ต้องนำมาบังคับใช้ เมื่อมีล้งใดจงใจกดราคารับซื้อ มีความผิดจำคุก 2 ปีปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีนั้นทั้งปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าพบว่าล้งต่างประเทศล้งไหนเอาเปรียบเกษตรกรก็จะบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป ปัจจุบันได้จับกุมแล้วหนึ่งรายที่จันทบุรี และเตรียมดำเนินคดีอีก 5 ราย.-สำนักข่าวไทย