สำนักงานกกต.31 ส.ค.-ที่ประชุมกกต.มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพส.ส.“เทพไท” ปมถูกศาลนครฯเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หลังเลขาฯ สภาร่อนหนังสือให้พร้อมอ้างไม่มีอำนาจพิจารณา
รายงานจากที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) วันนี้(31 ส.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ กรณีศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 จำคุกนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี จากกรณีร่วมกระทำผิดทุจริตเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อปี 2557 ว่า คำพิพากษาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวแม้ยังไม่เป็นที่สุดจะมีผลให้สมาชิกภาพความเป็นส.ส.ของนายเทพไทสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบ มาตรา 98 (4)และมาตรา 96(2) หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการสำนักงานกกต.นำเสนอหนังสือที่นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรส่งมาถึงในวันนี้ ระบุว่าสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของสภาผู้แทนราษฎร และรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรตาม มาตรา 10 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา 2554 แต่ไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเรื่องการสิ้นสุดสมาชิกภาพส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ สำหรับกรณีนายเทพไท สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วเห็นว่า หากกกต.มีเหตุสงสัยว่าสมาชิกภาพของนายเทพไทยสิ้นสุดลงหรือไม่ สามารถใช้อำนาจส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 82 วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญ
สำหรับกรณีดังกล่าวในส่วนของสำนักงานกกต. อยู่ระหว่างผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชขอคัดสำเนาคำพิพากษาจากศาลนครศรีธรรมราช เพื่อส่งมาให้สำนักงานกกต.กลางเสนอประกอบความเห็นของสำนักงานฯ ที่จะเสนอต่อ กกต.ว่ากรณีดังกล่าวทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98( 4 )และมาตรา 96 ( 2) และมาตรา 42(7) ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561กำหนดไว้ชัดเจนเป็นลักษณะต้องห้ามว่าบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ห้ามใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.และลักษณะดังกล่าวเป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลง แต่เมื่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีหนังสือมา ทางกกต.เห็นว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะมีข้อถกเถียงกันอยู่ในทางสังคม จึงมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ.-สำนักข่าวไทย