กรุงเทพฯ 28 ส.ค. – ชาวประมง 22 จังหวัดชายทะเลทั่วประเทศ ส่งตัวแทนยื่นหนังสือถึงนายกฯ ผ่าน รมว.เกษตรฯ เรียกร้องแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงระดับชาติชุดใหม่ โดยนายกฯ เป็นประธาน พ้อคณะกรรมการหลายคณะที่ผ่านมาไม่จริงใจ ได้เพียงซื้อเวลา จนชาวประมงพาณิชย์สิ้นเนื้อประดาตัว ประกอบอาชีพต่อไม่ได้แล้ว
นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นำตัวแทนสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล เข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้รับฟังและแก้ปัญหาภาคประมงอย่างเร่งด่วน โดยกล่าวว่า วันนี้ (28 ส.ค.) ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เร่งแก้ปัญหาภาคการประมงทั้งระบบสั่งสมมาหลายปี ประเด็นสำคัญ คือ การเสนอแก้ไข พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 จำนวน 18 มาตรา ประกอบด้วย ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับประมงพื้นบ้าน 3 มาตราและประมงพาณิชย์ 15 มาตรา โดยนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรเร็วที่สุด รวมทั้งต้องให้ชาวประมงมีส่วร่วมในการเสนอแก้ไขกฎหมายด้วย
ที่สำคัญ คือ ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาภาคประมงระดับชาติชุดใหม่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน และคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง มี พล.ต.ท. จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธานนั้น ไม่จริงใจแก้ปัญหา การเปิดรับฟังปัญหาของชาวประมงทำมาหลายครั้งเป็นเพียงการซื้อเวลา ทำให้ชาวประมงสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ต่อไปแล้ว ทั้งนี้ ขอให้นายกรัฐมนตรีแจ้งผลให้ทราบใน 7 วัน
นายสุรเดช นิลอุบล รองประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ควบคู่กับการค้ามนุษย์ ซึ่งนำไปสู่การออก พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 รวมทั้งกฎหมายลูกที่บังคับใช้โดยหลายหน่วยงาน ซึ่งชาวประมงร่วมมือปฏิบัติจนกระทั่งสหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเขียวแก่ประเทศไทย แต่กฎหมายลูกต่าง ๆ ยังคงออกมาตลอด โดยไม่คำนึงถึงความอยู่รอดของชาวประมง โดยรัฐบาลอ้างเรื่อง IUU การค้ามนุษย์ และความยั่งยืนของทรัพยาการทางทะเล แต่ไม่ส่งเสริมการประกอบอาชีพ ส่วนโครงการเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการทำประมงที่อนุมัติมาหลายเดือนแล้ว ยังไม่เป็นรูปธรรม ชาวประมงจำนวนมาก ไปยื่นกู้ไม่สามารถกู้ได้ตามเงื่อนไขของโครงการ
นายสุรเดช กล่าวต่อว่า อำนาจหน้าที่ของกรมประมงตลอดจนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลดลง จนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากมีคณะกรรมการแต่งตั้งมาทำงานซ้ำซ้อนกัน หากนายกรัฐมนตรียังคงเห็นว่า อาชีพประมงเป็นการทำเกษตรกรรมหนึ่งที่สร้างรายได้เลี้ยงคนทั้งประเทศ ตามที่มารับฟังปัญหาด้วยตนเองแล้ว ขอให้แก้ปัญหาด่วน โดยให้ชาวประมงมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นด้วย ไม่เช่นนั้นชาวประมงพาณิชย์ทั้งหมดจะเลิกประกอบอาชีพ ขอให้รัฐซื้อเรือคืนทั้งหมด เพื่อที่ชาวประมงจะไปประกอบอาชีพอื่น.-สำนักข่าวไทย