กรุงเทพฯ25 ส.ค..-ผลวิจัย บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษา จ่ายรายหัวเท่ากันแต่ไปถึงปลายทางไม่เท่ากัน “นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา” แนะรัฐจัดสรรงบปี 64 เน้นเติมเต็มกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ด้อยโอกาส ลดผลกระทบ COVID-19 ดันปฏิรูประบบงบประมาณด้วยสูตรเสมอภาคแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (National Education Accounts: NEA)กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยผลการวิเคราะห์ 10 ปีจาก โครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ว่ารายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทยระหว่างปี 2551 – 2561 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2551 มี 560,479 ล้านบาท ต่อมาในปี 2561 มีรายจ่ายด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 816,267 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยรายจ่ายด้านการศึกษาของภาครัฐเริ่มมีแนวโน้มลดลงจาก 684,497 ล้านบาท ในปี 2559 เป็น 620,452 ล้านบาท ในปี 2561 หรือคิดเป็นอัตราการลดลงเฉลี่ยปีละ 4.79% สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงทุกปี ทำให้จำนวนนักเรียนทั้งหมดของประเทศไทยมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากมีนักเรียนทั้งหมดจำนวน 11,750,727 ในปี พ.ศ. 2553 เหลือจำนวน 10,763,607 คน ในปี พ.ศ.2561 หรือลดลงมาเกือบหนึ่งล้านคนในระยะเวลา 8 ปี
จากข้อมูลการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปี 2561 สพฐ. มีโรงเรียนในสังกัดจำนวน 29,839 แห่ง โดยมีงบประมาณทั้งหมด 286,743 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ที่มีงบรายหัวที่จัดสรรให้เด็กแต่ละคนเท่ากัน แต่ในทางปฏิบัติแล้วเมื่อติดตามผลการจัดสรรงบประมาณในหมวดต่างๆ เหล่านี้ไปถึงปลายทางในพื้นที่ และถึงตัวผู้เรียนแล้วจะพบว่า นักเรียนแต่ละคนในพื้นที่ต่างๆ จะได้รับงบประมาณรวมเฉลี่ยต่อคนไม่เท่ากัน ซึ่งเกิดจากหลากหลายปัจจัย อาทิ จำนวนเด็กนักเรียนในแต่ละพื้นที่ จำนวนครูในโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารที่ยังขาดครูไปสอนไม่ครบชั้นเรียน ทำให้งบบุคลากร งบลงทุนที่ได้รับการจัดสรรลงไปให้แก่นักเรียนในพื้นที่และสถานศึกษาเหล่านี้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าโรงเรียนขนาดกลาง-ใหญ่ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
โดยผลการวิจัยจากโครงการบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติพบว่า ในปีงบประมาณ 2561 ภูมิภาคที่มีรายจ่ายด้านการศึกษา มากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 119,153 ล้านบาท รองลงมาคือภาคกลาง จำนวน 72,231 ล้านบาท ภาคเหนือ จำนวน 54,280 ล้านบาท ในขณะที่ภาคใต้ เป็นภูมิภาคที่มีรายจ่ายด้านการศึกษาน้อยที่สุดจำนวน 41,077 ล้านบาท หรือประมาณ1ใน 3 ของรายจ่ายด้านการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เมื่อติดตามผลการจัดสรรงบประมาณการศึกษาในปี 2561 ไปถึงผู้เรียนเป็นรายบุคคลแล้วพบว่านักเรียนในบางจังหวัดได้รับจัดสรรงบประมาณการศึกษาเฉลี่ยต่อหัวอยู่ในระดับ 25,000 – 35,000 บาท เช่น จังหวัดตาก สุราษฎร์ธานี และ สมุทรสาคร ในขณะที่บางจังหวัดนักเรียนได้รับจัดสรรงบประมาณการศึกษาเฉลี่ยต่อหัวอยู่ในระดับ 53,000 – 65,000 บาท เช่น จังหวัด ปทุมธานี แพร่ และร้อยเอ็ด เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกันอยู่ราว 1-2 เท่า อันเนื่องมาจากปัจจัยสภาพแวดล้อมในพื้นที่ และจำนวนครูและบุคลากรในสถานศึกษาข้างต้น
“เมื่อพิจารณาผลกระทบจาก COVID-19 ล่าสุดที่มีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษในระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 แสน คนจะเห็นได้ว่าผู้เรียนและครัวเรือนในระบบการศึกษาไทยในปีการศึกษา 63-64 ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจาก COVID-19 ทั่วทุกพื้นที่ ทางออกด้านหนึ่งในการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาปี 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติการศึกษาได้อย่างยั่งยืน คือ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกระบวนการจัดสรรงบประมาณเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity-based Budgeting) ซึ่งไม่ใช่การจัดสรรด้วยสูตรเดียวกันทั้งประเทศ แต่ใช้หลักการนำข้อมูลความจำเป็นของผู้เรียน และสถานศึกษา รวมทั้งบริบทเฉพาะในแต่ละพื้นที่ มาคิดคำนวณอยู่ในสูตรการจัดสรรงบประมาณด้วย สิ่งนี้จะช่วยให้ระบบการศึกษาไทยสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งด้านประสิทธิภาพ และความเสมอภาคไปพร้อมกันได้ เพราะนอกจากผู้เรียน โรงเรียนจะได้รับการจัดสรรทรัพยากรที่สอดคล้องกับความจำเป็นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแล้ว รัฐบาลจะสามารถประหยัดเงินงบประมาณได้จำนวนมากจากรายจ่ายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการได้ด้วย” รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าว
โดยในเดือนกันยายนนี้ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ กสศ. จะเปิดตัวฐานข้อมูลบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาออนไลน์ ในชื่อฐานข้อมูล iNEA ผ่านโปรแกรม Business Intelligence (BI) เพื่อให้เห็นถึงภาพรวมและรายละเอียดของข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทยย้อนหลัง 10 ปี ด้วยการนำเสนอรูปแบบใหม่ที่ทันสมัย ใช้กราฟิก แผนที่ และรูปภาพ ให้สามารถเข้าใจข้อมูลได้อย่างชัดเจน จะช่วยให้ผู้ออกแบบนโยบาย ผู้บริหารสถานศึกษา และนักวิชาการศึกษาเข้าใจโครงสร้างรายจ่ายด้านการศึกษามากขึ้น ข้อมูลนี้ยังสามารถนำไปประกอบการออกแบบนโยบายการศึกษา เพิ่มความพร้อมของเด็กก่อนเข้าเรียน เพิ่มอัตราการเข้าเรียน และกำหนดผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรของภาครัฐในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเป็นธรรม .-สำนักข่าวไทย