กรุงเทพฯ 19 ส.ค. – กฟผ.เสนอรัฐเจรจาเอกชนปลดโรงไฟฟ้าเก่าที่ได้เฉพาะค่าความพร้อมจ่ายออกจากระบบเร็วขึ้น คาดใช้วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท พร้อมกระทุ้งโครงการขายไฟฟ้าอาเซียน และทำห้องเย็นเก็บพืชผลทางการเกษตร หวังลดสำรองไฟฟ้าที่สูงถึง 40%
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในระดับสูงถึง 40% จากเกณฑ์ที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 15% นั้น ปัจจัยสำคัญเป็นเรื่องเหนือคาดการณ์ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศที่ผ่านมาได้พิจารณาจากประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เดิม คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 3-5% จึงเตรียมแผนสร้างโรงไฟฟ้าจึงต้องเพียงพอ หรือสอดรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรองไฟฟ้ามีปริมาณสูงและมีผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า ทางกระทรวงพลังงานและ กฟผ.ได้เร่งศึกษาเพื่อลดปริมาณสำรองไฟฟ้าลง โดยได้จัดเตรียมแผนไว้หลายแนวทาง เช่น การเชื่อมต่อไฟฟ้าระหว่างประเทศ ตามแผนไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน หรือฮับไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ การจัดทำห้องเย็นใช้บริการเกษตรกรในพื้นที่เพื่อเก็บรักษาผักและผลไม้ โดยอาจจะเป็นลักษณะบริการไฟฟ้าฟรี หรือจัดเก็บค่าบริการในราคาต่ำ
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ได้ศึกษาและเตรียมนำเสนอต่อกระทรวงพลังงานพิจารณาแนวทางลดสำรองไฟฟ้าโดยเจรจากับภาคเอกชน ประเภทโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่ปัจจุบันไม่ได้ถูกสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เพราะเป็นโรงเก่ามีประสิทธิภาพต่ำ และจะหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประมาณปี 2564-2568 ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าเอกชน 1-2 แห่ง เช่น โรงไฟฟ้าบางยูนิตของ โรงไฟฟ้าราชบุรี, โรงไฟฟ้าของ กฟผ. 1-2 แห่ง เช่น บางยูนิตของ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โดยโรงไฟฟ้าเหล่านี้ปัจจุบันได้เฉพาะค่าความพร้อมจ่าย (AP) เท่านั้น ดังนั้น หากเจรจากับภาคเอกชนเพื่อปลดระวางโรงไฟฟ้าเร็วขึ้น ขณะที่ประชาชนโดยรวมก็จะได้ประโยชน์จากการลดสำรองไฟฟ้าที่จะไม่เป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคต คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณหมื่นล้านบาทในการดำเนินการ ส่วนจะใช้เงินจากส่วนใดก็ต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะพิจาณา
“หลักที่เจรจากับเอกชนที่ในขณะนี้ได้เฉพาะค่าความพร้อมจ่าย โดยขอจ่ายเป็นเงินก้อนเดียวจบ ในวงเงินที่น้อยกว่า การจ่ายต่อปีในทุกปีตามสัญญา เอกชนเองก็ได้ประโยชน์จากเงินก้อนส่วนนี้ เพื่อนำไปทำประโยชน์ด้านอื่นต่อ หรือสามารถวางแผนในการพัฒนาที่ดินในพื้นที่โรงไฟฟ้านั้น ๆ ได้ต่อไป ขณะที่ประชาชนโดยรวมก็จะได้ประโยชน์จากการลดสำรองไฟฟ้าที่จะไม่เป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคต” นายบุญญนิตย์ กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลความต้องการใช้ไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 พบว่า การใช้พลังงานอยู่ที่ 512.2 กิกะวัตต์ – ชั่วโมง (GWh) ลดลง 2.55% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) อยู่ที่ 24,590 เมกะวัตต์ 3.82% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงการล็อกดาวน์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยล่าสุดการใช้ไฟฟ้าภาคเหนือเพิ่มขึ้น 0.62% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น 2.23% ขณะที่ภาคอื่น ๆ การใช้ไฟฟ้ายังต่ำกว่าปีที่ผ่านมา
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทพร้อมเจรจากับภาครัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการลดสำรองไฟฟ้าของประเทศ แต่ทั้งนี้ ผลประโยชน์ของบริษัทจะต้องไม่เสียหาย และสิ่งสำคัญไม่แน่ใจว่าภาครัฐจะดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาไม่ให้ผิดหลักเกณฑ์สินทรัพย์ไม่หมดอายุที่อาจจะถูกการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผนดิน (สตง.) โดยโรงไฟฟ้าเก่าของบริษัทที่ใกล้หมดอายุ คือ โรงไฟฟ้าราชบุรี เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน 2 ยูนิต กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ จะหมดอายุในปี 2568 -สำนักข่าวไทย