กรุงเทพฯ 18 ส.ค.- สสว.เผยหลังวิกฤติโควิด-19 เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ 78.9% อยากให้รัฐขยายมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยไปอีกไม่เกิน 6 เดือน ส่วนใหญ่ 84.6% จะไม่ลดคนงาน
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลสำรวจสภาพคล่องธุรกิจเอสเอ็มอี และสถานการณ์การจ้างงาน หลังวิกฤติโควิด-19 ทำการสำรวจวันที่ 20-27 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2,582 ราย จาก 21 สาขาธุรกิจทั่วประเทศ พบว่าธุรกิจเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ยังไม่มีการกู้ยืม 1,434 ราย คิดเป็น 55.5% และที่มีการกู้ยืมเงิน 1,148 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.5 ซึ่งส่วนใหญ่กู้เงินจากสถาบันการเงิน คิดเป็น 87.8% และแหล่งเงินกู้นอกระบบคิดเป็น 12.2%
ภายหลังวิกฤติโควิด-19 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐขยายมาตรการต่อไปอีกมากถึง 78.9% ส่วนที่เห็นว่ายังไม่ควรขยายระยะเวลามาตรการ 21.1% ในการขยายมาตรส่วนใหญ่ต้องการไม่เกิน 6 เดือน 48.1% รองลงมา คือ ควรขยายเวลาจากเดิมไม่เกิน 3 เดือน 26.7% แต่พบว่าระยะเวลาเฉลี่ยที่ควรขยายระยะเวลาของมาตรการต่อจากเดิม คือ 4.7 เดือน
ประเภทเงินกู้ที่ผู้ประกอบการมองว่าควรขยายระยะเวลามากที่สุด คือ เงินกู้สินเชื่อธุรกิจ 39.8% รองลงมา คือ สินเชื่อส่วนบุคคล 23.6% สินเชื่อรถยนต์ 11.1% สินเชื่อบ้าน 8.7% วงเงินกู้ประจำ 7.4% สินเชื่อบัตรเครดิต 6.1% และที่ตรงตามความต้องการมากที่สุด คือ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 59.6% รองลงมา คือ การกู้โดยไม่ต้องมีหลักค้ำประกัน 31.2% วงเงินกู้ประจำ 4.3% และการเบิกเงินเกินบัญชี 3.9% นอกจากนี้ พบว่าส่วนใหญ่ต้องการวงเงินกู้ 1,000 – 50,000 บาท 40.3% รองลงมา คือ วงเงินกู้ 100,001 – 500,000 บาท 19.2% และวงเงินกู้ 50,001 – 100,000 บาท 18.6% ส่วนระยะเวลาสินเชื่อที่ต้องการมากที่สุด คือ ไม่เกิน 6 เดือน 26.0% รองลงมา คือ ไม่เกิน 12 เดือน 25.6% ไม่เกิน 3 เดือน 15.8% และไม่เกิน 24 เดือน คิดเป็น 15%
สำหรับเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มสำคัญในการจ้างแรงงานของประเทศที่มีจำนวนการจ้างงานเกือบ 14 ล้านคน จากการสำรวจสถานการณ์การจ้างงานหลังโควิด-19 จากผู้ประกอบการทั้งหมด 2,582 ราย พบว่ากิจการมีจำนวนแรงงานเฉลี่ยทั้งหมด 8 คน รวมสมาชิกในครอบครัวและเจ้าของธุรกิจ ด้านประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงาน หลังโควิด-19 วิเคราะห์เฉพาะกิจการที่มีลูกจ้างประจำและลูกจ้างรายวันเท่านั้น พบว่า จำนวนแรงงาน และค่าจ้างแรงงาน กิจการส่วนใหญ่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง คิดเป็น 84.6% และ 86.1% ตามลำดับ รองลงมา คือ มีการปรับลดจำนวนและค่าจ้างแรงงานลง 12.0% และ 11.2% ตามลำดับ ในส่วนโบนัส และค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าเดินทางกิจการส่วนใหญ่ไม่มีให้อยู่แล้ว.-สำนักข่าวไทย