สธ.17ส.ค.-กรมควบคุมโรค ร่วมกับ สำนักอนามัย กทม.ลงพื้นที่สอบสวนโรคคอนโดฯใน กทม.หลังพบชายมาเลเซียติดโควิดหลังอยู่ไทยและกลับ ไปประเทศแล้ว 10 วันตรวจเจอ ย้ำการสอบสวนไม่ได้หาว่าแพร่โรคให้ใคร แต่อยากรู้ว่าติดจากใคร ชี้ไม่ต้องตื่น เพราะธรรมชาติการติดเชื้อในสิ่งแวดล้อม มีน้อยกว่าสัมผัสใกล้ชิด
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีทางการมาเลเซีย รายงานพบชายชาวมาเลเซีย ติดโควิด -19 หลังเดินทางกลับไทย ว่า วันนี้กรมควบคุมโรค และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กำลังลงพื้นที่สอบสวนโรคและติดตามคนใกล้ชิดชายชาวมาเลเซีย ในคอนโดมิเนียม แห่งหนึ่งใน กทม. จากข้อมูลพบว่าชายคนดังกล่าวอายุ 46 ปี พักอยู่ในประเทศไทย และเดินทางถึงมาเลเซีย 5 ส.ค.ที่ผ่านมา พักอยู่ใน state quarantine ตรวจหาเชื้อครั้งแรกไม่พบ ตรวจครั้งที่ 2 ด้วยวิธี RT PCR เมื่อวันที่15 ส.ค.พบติดเชื้อโควิด -19 และไม่มีอาการป่วย อย่างไรก็ตามการสอบสวนโรคในครั้งนี้ไม่ได้ต้องการหาว่า ชายคนดังกล่าวแพร่เชื้อให้ใคร แต่ต้องการทราบว่าติดเชื้อมาจากใคร
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า โอกาสการติดเชื้อในไทยมีขึ้นได้ แต่เนื่องจากชายคนดังกล่าวไปอยู่ใน state quarantine ถึง 10 วันถึงพบเชื้อจึงไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าติดเชื้อจากที่ใด ส่วนการตรวจหาเชื้อที่คอนโดมิเนียมนั้น โอกาสติดเชื้อในผู้อยู่อาศัยเดียวกันนั้น ยืนยันว่าความเสี่ยงสูงสุดคงเป็นครอบครัวที่มีความใกล้ชิด ส่วนบุคคลอื่นที่ใช้สิ่งของร่วมกันโอกาสมีน้อยมาก เช่น การใช้ลิฟท์ตัวเดียว เพราะวิจัยในเมืองร้อนโอกาสการติดเชื้อ ในสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้น้อยกว่าการสัมผัสใกล้ชิดส่วนบุคคล
ส่วนเรื่องที่ทางการมาเลเซียพบเชื้อโควิดD614G กลายพันธุ์แพร่เชื้อได้เร็วถึง10 เท่านั้น ขณะนี้ยังไม่มีรายงาน ส่วนกรณีที่ทั่วโลกเตรียมเสนอแนวคิดเรื่องการลดการกักตัว 14 วันในการสังเกตอาการนั้น ขณะนี้ยังเป็นที่ถก เถียงกันในนักวิชาการ เนื่องจากพบว่าการกักตัว 14 วัน มีโอกาสเชื้อหลุดรอดได้แค่ ร้อยละ 2 ส่วนหากมีการกักตัว 10 วันมีโอกาสที่เชื้อหลุดรอดร้อยละ 4
นพ.ธนรักษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าการเรื่องวัคซีนโควิด ทั่วโลกขณะนี้มีการทดลองวัคซีนในระยะที่ 3 รวม 8ตัว ,ทดลองวัคซีนในระยะที่ 2 รวม11 ตัว และทดลองวัคซีนในระยะที่1รวม 20 ตัว ซึ่งการทดลองวัคซีนของไทยที่มีความคืบหน้ามากชนิด m RNA ขณะเดียวกันทางรัฐบาลก็เตรียมเจรจา กับมหาวิทยาลัยออกฟอร์ต และบริษัท แอสตาเซเนก้า ที่ร่วมกันผลิตวัคซีน เพื่อขอถ่ายทอดเทคโนโลยี และหากวัคซีนนี้ สามารถป้องกันโรคมากกว่าร้อยละ 50 ก็คาดว่าในอีก 6เดือน ข้างหน้าจะสามารถผลิตวัคซีนได้สำเร็จ หรือราวกลางปีหน้า จะมีวัคซีนไว้ใช้ได้สำเร็จ .-สำนักข่าวไทย