รัฐสภา 5 ส.ค –“ฤชา” แจงเห็นพ้องคดี “บอส” ตามพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ชี้คดีนี้ไม่ต้องใช้พยานนิติวิทยาศาสตร์ ความเร็วรถผิดชัดเจน ด้าน “พีรพันธุ์” จวกอัยการ-ตำรวจเอาศักดิ์ศรีมาแลก คนที่ไม่เกี่ยวต้องมานั่งอธิบายสิ่งที่คนอื่นทำ
นายฤชา ไกรฤกษ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครองภูเก็ต สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะหนึ่งในอัยการที่มีความเห็นให้ฟ้องนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา คดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ว่า การสั่งคดีดำเนินการในฐานะพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน โดยสั่งฟ้อง 4 ข้อหา ซึ่งข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย พบการตรวจความเร็วจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งบริเวณที่เกิดเหตุ และความเห็นส่วนตัว นอกจากการคำนวนความเร็วจากกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นพยานทางนิติวิทยาศาสตร์
“ในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ผู้ช่วยจะสอนน้ อง ๆ เสมอว่าบางครั้งพยานนิติวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็น 100 % ถ้าเราวินิจฉัยได้จากพยานวัตถุที่โกหกไม่ได้หรือบิดเพี้ยนไม่ได้ กรณีนี้ดูกระจกหน้ารถยนต์ของผู้ต้องหาว่าแตกเป็นใยแมงมุมละเอียดเลย ดูความเสียหายของรถและสภาพศพของผู้ตายหลังเกิดเหตุน่าเชื่อว่าขณะเกิดเหตุนายวรยุทธขับรถด้วยความเร็วสูงมาก ซึ่งพยานนิติวิทยาศาสตร์บางครั้งอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ในกรณีนี้เลย เพราะจับรถด้วยความเร็วสูงก็เป็นการประมาทแล้ว” นายฤชา กล่าว
ส่วนประเด็นข้อหายาเสพติด นายฤชา กล่าวว่า หลักการทำงานเมื่อรับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวน เราจะพิจารณาข้อกล่าวหาจากที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดี ซึ่งข้อหาโคเคน ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหามา และเมื่อฟังคำชี้แจงพบว่าผลการตรวจร่างกายไม่พบสารโคเคนโดยตรง แต่พบสาร 2 ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 กรณี คือการเสพโคเคนร่วมกับดื่มสุรา และอีกเหตุผลที่มีความเป็นไปได้ว่าผลดังกล่าวเป็นผลลวงจากการกินยาแก้อักเสบ เพราะตามข้อเท็จจริงพบว่านายวรยุทธ ได้เข้ารักษาอาการครอบฟันเลื่อนก่อนเกิดเหตุ และแพทย์ยืนยันว่าจ่ายยาแก้อักเสบให้นายวรยุทธจริง ซึ่งเมื่อประมวลแล้ว ไม่กล้าแนะนำให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีโคเคน เพราะหลักฐานไม่แน่น
ทั้งนี้ นายฤชา ปฏิเสธที่จะชี้แจงในประเด็นที่ก้าวล่วงดุลพินิจของพนักงานอัยการคนอื่นหลังจากรับสำนวนต่อ เพราะเกรงว่าจะเป็นการทำลายชื่อเสียงองค์กร
ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าคดีนี้มีความผิดปกติตั้งแต่เริ่มจนถึงวินาทีนี้ โดยเฉพาะพยานบุคคลที่ไม่เคยมีใครพูดเลยว่าพยานแต่ละคนมีที่มาอย่างไร ทุกคนพูดเพียงแต่คำบอกเล่าของพยานเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ในทางกฎหมายพยานบอกเล่าไม่สามารถรับฟังได้ ซึ่งอัยการพูดเองว่าอะไรที่เป็นความเห็นส่วนตัวย่อมฟังไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่วินิจฉัยทั้งฝ่ายอัยการและตำรวจกลับไม่ออกมาพูดข้อเท็จจริงเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
“หากคดีนี้เป็นคดีปกติจริง เหตุใดทั้ง 2 องค์กรจึงไม่นำคนที่วินิจฉัยเรื่องนี้มาชี้แจงต่อสังคม เพราะบุคคลดังกล่าวเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือแต่ละองค์กรกลับให้คนนั้นคนนี้มาอธิบายเหตุผลแทน ดังนั้น สิ่งอัยการกำลังชี้แจงในวันนี้เป็นการให้ความเห็นส่วนตัวใช่หรือไม่ ว่านายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดที่สั่งไม่ฟ้องคดีนี้ ใช้ดุลพินิจอย่างไร เช่นเดียวกับตำรวจที่มาในวันนี้ก็ไม่ใช่ความเห็นโดยตรงของพ.ต.ท. เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผบ.ตร. ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจกลับมานั่งอธิบายในสิ่งที่คนอื่นทำ ส่วนคนที่ทำไม่ต้องพูด แบบนี้มันปกติหรือไม่ ซึ่งความผิดปกติเรื่องนี้ คือคนในองค์กรทั้ง 2 องค์กรต่างพร้อมใจกันเอาเกียรติยศขององค์กรมาเสี่ยงเพราะคนเพียง 2 คน ทั้งที่เป็นองค์กรสำคัญ และเป็นหลักค้ำจุนประเทศอยู่” นายพีระพันธุ์ กล่าว
ด้านนายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ขอมติที่ประชุมให้เชิญนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุดที่ไม่สั่งฟ้องคดีฯ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ไม่ได้มีความเห็นแย้งอัยการ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหาและนายสมัคร เชาวภานันท์ ทนายความของนายวรยุทธอีกครั้ง หากไม่มาจะใช้พระราชบัญญัติคำสั่งเรียก เพราะได้เชิญมา 2 ครั้งแล้ว พร้อมกันนี้ยังมีมติให้เชิญนายธนิต บัวเขียว ทีมผู้ช่วยนายวรยุทธมาชี้แจงด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมาธิการฯ มีมติให้เชิญนายธานี อ่อนละเอียด และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาให้ข้อมูลเนื่องจากนายรังสิมันต์ โรม กรรมาธิการฯ ระบุถึงหลักฐานชวเลขบันทึกการประชุมว่าบทสนทนาในที่ประชุมคณะกรรมาธิการชุดนี้มีจุดประสงค์ช่วยให้นายวรยุทธรอดจากคดีนี้ โดยมีนายธานีเป็นคนผลักดันใช้กรรมาธิการเป็นเครื่องมือ และประธานกรรมาธิการเป็นผู้สนับสนุนให้เสนอความเห็นไปยังอัยการ.-สำนักข่าวไทย