กรุงเทพฯ 5 ส.ค. – ซีไอเอ็มบีไทยมองจีดีพีทั้งปีติดลบ 8.9% เชื่อเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วไตรมาส 2 ที่คาดว่าติดลบลงลึกถึง 14% หวังการใช้จ่ายงบฟื้นฟู 4 แสนล้าน และงบปี 64 ไม่สะดุด เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนเดียวของเศรษฐกิจขณะนี้
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะติดลบ 14% ซึ่งติดลบลึกกว่าไตรมาส 2 ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่ติดลบ 12.3% อย่างไรก็ตามแม้เศรษฐกิจจะผ่านจุดต่ำสุดไตรมาส 2 แล้ว และเริ่มกลับมาฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปไตรมาส 3 และ 4 แต่ยังอยู่ระดับติดลบ โดยไตรมาส 3 คาดจะยังคงติดลบระดับ 10% และทั้งปีติดลบ 8.9% เนื่องจากการส่งออกและท่องเที่ยวยังติดลบ มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐตัวเดียวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจขณะนี้ จึงมองเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวลักษณะตัวยู พร้อมคาดหวังการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะงบฟื้นฟู 400,000 ล้านบาท และงบปี 2564 จะไม่สะดุด ขณะที่ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่เหลือของปีมองกรอบ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งปีไว้ที่ 0.5% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับลดเร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคและอยู่ในระดับที่ต่ำแล้ว หากจำเป็นต้องใช้นโยบายทางการเงิน มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้เครื่องมืออื่นแทน เช่น ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF และเน้นไปที่การอัดฉีดซอฟท์โลนเข้าสู่ระบบ รวมทั้งการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับภูมิภาค ทั้งนี้ อีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่ คือ การดูแลลูกหนี้หลังมาตรการพักชำระหนี้จะสิ้นสุดเดือนตุลาคมนี้
ขณะที่เสถียรภาพของรัฐบาล ยอมรับว่าการปรับ ครม.ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนระยะสั้น และเมื่อมีความชัดเจนเชื่อว่าจะมีการสานต่อนโยบายโดยเฉพาะการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ส่วนปัจจัยเสี่ยงช่วงที่เหลือของปี คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐไม่ว่าผลการเลือกตั้งสหรัฐจะออกมาในทิศทางไหน สงครามการค้าระหว่าง2 ประเทศจะยังคงอยู่ แต่จะไม่เร่งแรง และยังส่งผลดีต่อการย้ายฐานการลงทุนออกจากจีนมายังอาเซียน ซึ่งขึ้นอยู่กับไทยว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน
ด้านนายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า ภาพรวมของสินเชื่อของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ครึ่งปีแรกจะขยายตัว 3-4% จากการปล่อยสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ขณะที่ครึ่งปีหลังคาดจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรก จากการขอสินเชื่อเพื่อลงทุนต่อเนื่อง พร้อมกันนี้มองการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นโอกาสของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่แสดงให้เห็นจากประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีและเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ทำให้อาเซียนมีศักยภาพที่จะดันตัวเองให้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในเศรษฐกิจโลกได้มากขึ้น
นอกจากนี้ เริ่มเห็นแนวโน้มธุรกิจขนาดกลางจับมือกัน เพื่อความอยู่รอดมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของบริษัทใหญ่ในไทยที่มีความพร้อมอาศัยจังหวะนี้ในการซื้อกิจการ เพื่อขยายฐานธุรกิจของตนเองออกไปในภูมิภาคอาเซียน .- สำนักข่าวไทย