กรุงเทพฯ 24 พ.ย.-ซีไอเอ็มบีไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 64 จาก 0.4% เป็น 1.1% ชี้ เศรษฐกิจไทยปี65”เสือหมอบรอกระโจน” ปรับคาดการณ์ เติบโต 3.8% จากเดิมที่ 3.2%
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT) เปิดเผยว่า สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 64 จาก 0.4% เป็น 1.1% จากที่ไทยเปิดประเทศและคลายล็อกดาวน์ การควบคุมการระบาดโควิดในประเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปัญหาอุปทานชะงักงันในโรงงานกำลังคลี่คลาย จึงคาดการณ์ว่าจีดีพีไตรมาส 4/64 ขยายตัว 0.6%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ1.3%เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
สำหรับปี 65 ได้ปรับคาดการณ์ เติบโต 3.8% จากเดิมที่ 3.2% โดยมี 3ปัจจัยสนับสนุนหลัก 4 ด้านได้แก่
1การส่งออก ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.7% จากการฟื้นตัวต่อเนื่องในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง ปิโตรเคมี และกลุ่มอาหารแปรรูป ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
2.การท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 5.1 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี และกลุ่มยุโรปอื่นๆ กลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่มอาเซียน ยกเว้น จีน ที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย โดยก่อนโควิดในปี 2562 มีสัดส่วนสูงถึง 28% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด คาดว่าจะมีคนจีนเพียง 9%
3.กำลังซื้อระดับกลาง-บน ที่เริ่มเห็นสัญญาณการใช้จ่ายหลังเปิดเมือง การที่ไทยไม่มีปัญหาการว่างงานสูง แต่คนระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะขาดความเชื่อมั่นในความมั่นคงของงาน ดังนั้น เมื่อมีการเปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มคึกคัก คนจะเริ่มจับจ่ายใช้สอย และนำเงินออมออกมาใช้มากขึ้น
อย่างไร ก็ตาม ความเสี่ยง ทั้งการอาจเกิดการระบาดของโควิดรอบใหม่ ,สงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนยังคงดำเนินต่อไปและเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพของคนไทยที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน อาหารสด และต้นทุนภาคการผลิตอื่นๆ แม้เงินเฟ้อปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.9% และราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยที่ 67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า จากปัจจัยด้านทุนเคลื่อนย้าย โดยเรามองว่าปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐยังมีต่อเนื่องถึงช่วงกลางปีหน้า มีผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดำเนินการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง หรือ สิ้นสุดมาตรการ QE ในช่วงกลางปีก่อนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีหน้า คาดปลายปี 2564 เงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐและปลายปี 2565 ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐส่วนดอกเบี้ยนโยบาย เรามองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปีตลอดทั้งปี65
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 น่าจะเป็นปีเสือหมอบรอกระโจน แต่ให้ระวังเสือร้ายหรือปัจจัยเสี่ยงทำเศรษฐกิจสะดุด นอกจากนี้ ปี 2565 เราอยากให้นักลงทุนทำใจดีสู้เสือเพื่อรับศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้านี้ ซึ่งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนในเดือนพฤศจิกายนปีหน้าในสหรัฐ อาจมีความพยายามจากทั้งสองพรรคใหญ่ในการดึงคะแนนนิยมจากประชาชนด้วยการใช้นโยบายแข็งกร้าวต่อจีน ซึ่งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ตลอดจนมาตรการที่จีนจะใช้ตอบโต้สหรัฐและจัดระเบียบเศรษฐกิจในประเทศ อาจสร้างความผันผวนต่อตลาดเงินและตลาดทุนได้ แนะนำนักลงทุนกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปต่างประเทศ ทั้งสหรัฐและยุโรป รวมทั้งประเทศที่จะได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม รวมทั้งตลาดทุนไทยที่จะกลับมาเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติอีกครั้งหลังแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้นหลังเปิดเมือง และค่าเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น และการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือ รีท (REIT) น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการพื้นที่ค้าปลีกและแหล่งกระจายสินค้า รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวดีขึ้น
“นับจากปี 63 เศรษฐกิจไทยเผชิญภาวะถดถอย โตช้า ซึมยาว จากพิษโควิด-19 และปี 64 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาด GDP ไทยเติบโตต่ำสุดในอาเซียน เหนือเพียงประเทศเมียนมาที่มีปัญหาการเมืองที่รุนแรง ขณะที่ต่างประเทศเริ่มมองประเทศไทยเป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” ที่ต่างชาติเมินการลงทุน ทั้งการลงทุนทางตรง (FDI) ที่ออกบัตรส่งเสริมบีโอไอ มีเงินลงทุน 227,720 ล้านบาท จำนวน 936 โครงการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 ลดลง 31% และ 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อนตามลำดับ และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีนักต่างชาติขายสุทธิรวม 63,399 ล้านบาทในช่วง 10 เดือนแรกของปี แต่ในความเป็นจริง เศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพ เพียงแต่รอปัจจัยที่เอื้ออำนวยและมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการเติบโตระยะยาวอย่างเต็มที่ จึงขอเปรียบเศรษฐกิจไทยปี 65 ว่าเสมือนเสือโคร่งที่ซุ่มหมอบรอจังหวะพุ่งกระโจน ไม่ใช่เสือป่วยนอนหลับนิ่งอย่างที่ใครคิดกัน”นายอมรเทพระบุ-สำนักข่าวไทย