กรุงเทพฯ 18 ก.ค. – “ศักดิ์สยาม” แจงรถไฟสายสีแดง ต้องทำ PPP เดินรถ หลังสถานการณ์โควิด-19 รัฐใช้งบเยียวยาจำนวนมาก การดึงเอกชนร่วมลงทุนเพื่อลดภาระงบประมาณ ลดก่อหนี้สาธารณะ พร้อมยืนยันไม่เคยระบุรถไฟฟ้าสีแดงจะเปิดให้บริการปี 2566 โดยมีรายงานข่าวระบุว่ากรมรางฯ ดันแผนก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2564
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ว่า เดิมโครงการดังกล่าว มีกำหนดที่จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2564 แต่เนื่องจากผู้รับจ้างขอยื่นขยายสัญญาการก่อสร้างออกไปอีกเป็น 1,122 วัน ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงคมนาคม รอรายงานจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก่อน และจากการรายงานของนายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ อธิบดี กรมรางฯ ยืนยันว่า เมื่อพิจารณากรอบเวลาการขยายสัญญาแล้ว สามารถลดบางขั้นตอนได้ และยืนยัน ไม่เคยระบุว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงจะเปิดให้บริการในปี 2566
ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้าจะจัดประชุมร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อพิจารณาหาข้อสรุปต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาว่าจะเปิดให้บริการได้เมื่อไหร่นั้น ต้องพิจารณาบนพื้นฐานด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก รวมถึงในส่วนงานโยธาของช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันเสร็จ ถึงแม้จะแล้วเสร็จเกือบทั้งหมดแล้วนั้น ต้องมาพิจารณาว่า การจะเปิดให้บริการ มีในส่วนการวางระบบอาณัติสัญญาณด้วย ทั้งนี้หากประเมินว่าสามารถเปิดเดินรถได้ ก็จะดำเนินการต่อไป
ในส่วนการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) นั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เนื่องจากจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รัฐบาลจึงต้องใช้งบประมาณในการป้องกันเยียวยา และฟื้นฟูจากสถานการณ์ดังกล่าวไปจำนวนมาก และขณะนี้การก่อหนี้สาธารณะก็มีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 58 เกือบชนเพดาน ร้อยละ 60 แล้ว การนำเอกชนเข้าร่วมลงทุนจึงเป็นการลดภาระต่องบประมาณ ลดการก่อหนี้ในอนาคต และ ประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์สูงสุด มีภาาระค่าโดยสารต่ำ รัฐต้องไม่เสียเปรียบ และเอกชนสามารถเดินหน้าได้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่อง PPP นั้น ต้องเสนอให้คณะกรรมการ PPP และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาต่อไป
“เรื่องรถไฟสายสีแดงไม่ต้องกังวล และไม่เอื้อประโยชน์ให้ใคร เพราะผมใช้หลักธรรมาภิบาลในการทำงาน โปร่งใส มีส่วนร่วม และตรวจสอบได้ โดยในสัปดาห์หน้าต้องสรุปให้ได้ ต้องมาดูข้อเท็จจริง และเป็นไปตามหลักกฏหมาย รวมถึงเหตุผลต่างๆ” นายศักดิ์สยาม กล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ส่วนประเด็นที่หากผู้รับจ้างจะขยายสัญญา และมีการเพิ่มวงเงินประมาณ 10,345 ล้านบาทนั้น จึงมอบหมายให้ รฟท. ไปตรวจสอบว่าวงเงินที่ผู้รับจ้างขอเพิ่ม 10,345 ล้านบาทนั้น มีความจำเป็นต้องทำหรือไม่ ถ้าทำแล้วต้องใช้งบประมาณจากแหล่งใด เนื่องจากเดิมใช้งบประมาณจากไจก้า แต่ตอนนี้ต้องใช้งบประมาณปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรอบระยะเวลาในการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น จากข้อมูลของกรมรางฯ ยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถเร่งรัดให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 2564 ก่อนที่จะมีการเปิดทดลองเดินรถให้ประชาชนทดลองใช้ ส่วนการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการนั้นสามารถตามมาภายหลัง ทั้งนี้ความล่าช้าที่เกิดขึ้นกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงในระหว่างการก่อสร้าง มีสาเหตุสำคัญจากการล่าช้าในการรื้อย้ายสาธารณูปโภค แนวท่อก๊าซ การบุกรุกพื้นที่ ทำให้ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนผู้รับงานเข้าพื้นที่ก่อสร้างล่าช้าไปด้วย เป็นที่มาซึ่งจำเป็นต้องขยายระยะเวลาก่อสร้างให้เอกชน . – สำนักข่าวไทย