จ.อุบลราชธานี 22 มิย.-ชุดปฏิบัติการรวงผึ้งหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 กองทัพไทยบูรณาการงานร่วมหลายหน่วยงานเร่งสำรวจพื้นที่ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ค้นหาทุ่นระเบิดตั้งแต่ปี 28 ก่อนคืนพื้นที่ให้ประชาชนใช้ชีวิติอย่างปลอดภัย ยั่งยืน
พล.ท.สิทธิพล นิ่มนวล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย พร้อมด้วยคณะทำงานติดตามและขับเคลื่อนตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา กองบัญชาการกองทัพไทย ตรวจเยี่ยมความพร้อมของชุดปฏิบัติการรวงผึ้งจากหน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3)และ สมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย(Thai Civilian Deminer Association : TDA) โดยตรวจความพร้อมด้านร่างกาย อุปกรณ์ของชุดปฏิบัติงาน การลงจอดเฮลิคอปเตอร์ในพื้นที่รวงผึ้ง การบรรทุกสัมภาระที่ใช้ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ฯกับเฮลิคอปเตอร์ การติดต่อสื่อสารระหว่างเฮลิคอปเตอร์กับชุดปฏิบัติงาน และรับฟังการแถลงแผนการปฏิบัติของชุดปฏิบัติงานฯ ที่ศูนย์พัฒนาพื้นที่ชายแดน อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี
สำหรับปฏิบัติการรวงผึ้ง 2020 เป็นภารกิจการปฏิบัติงานเพื่อปรับลดพื้นที่อันตรายต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิด ณ พื้นที่รวงผึ้ง ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นสมรภูมิรบในอดีต เนื่องจากประมาณ ปี พ.ศ. 2528 กองกำลังต่างชาติได้ยึดภูมิประเทศที่สำคัญคือเนิน 500 ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักในเขตประเทศไทย และเกิดการสู้รบกันขึ้น จากการสู้รบดังกล่าวทำให้ยังคงเหลือทุ่นระเบิดในพื้นที่จำนวนมาก ส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน
หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) ในความรับผิดชอบของกองพันทหารช่างที่ 6 กองพลทหารราบที่ 6 และสมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือนไทย (Thai Civilian Deminer Association:TDA) ได้สำรวจพื้นที่อันตรายณ พื้นที่รวงผึ้ง ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานีและดำเนินการแล้วเสร็จ 30 พื้นที่ ขนาด 43.4 ตารางกิโลเมตร คงเหลือพื้นที่อันตรายจำนวน 11 พื้นที่ ขนาด 29.7 ตารางกิโลเมตรที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากการเข้าถึงยากลำบาก พื้นที่เป็นภูเขาสูง อยู่ห่างไกล ไม่มีเส้นทางรถยนต์ ไม่มีสัญญาณ โทรศัพท์และไม่มีแหล่งน้ำในพื้นที่ ยังเหลือพื้นที่ยังไม่ได้สำรวจอีกประมาณ 30 ล้านตารางเมตร ทั้งนี้ การปฏิบัติการในพื้นที่ใช้เวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน – 16 กรกฎาคม 2563 และจะส่งคืนพื้นที่ปลอดภัยให้ประชาชนใช้ประโยชน์ต่อไป
สำหรับแนวทางการปฏิบัติการ เป็นการบูรณาการการปฏิบัติจากหลายส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ หน่วยปฏิบัติการทุ่นระเบิดด้านมนุษยธรรมที่ 3 (นปท.3) สมาคมผู้เก็บกู้ทุ่นระเบิดพลเรือน ร่วมมือกับ กองทัพบก สนับสนุนอากาศยาน (เฮลิคอปเตอร์) เพื่อนำเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ และองค์การบริหารส่วนตำบลโดมประดิษฐ์ให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกในพื้นที่
การบูรณาการในครั้งนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ โดยเฉพาะการแสดงให้เห็นถึงบทบาทของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาชาติในการปฏิบัติภารกิจด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของไทย และจะนำไปสู่ความมั่นใจของประชาชนในการดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยในพื้นที่อย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย