กรุงเทพฯ 19 มิ.ย.- กฟผ. – ปตท.ลงนามสัญญาก๊าซฯระยะยาว 10 ปีแล้ว มูลค่า 3.4 แสนล้านบาท เพื่อความมั่นคง ในขณะที่ กฟผ.หวังนำเข้าแอลเอ็นจีตลาดจรตามแผน 3 ปี ด้าน บี.กริม คาดหวังรัฐปรับโครงสร้างราคาโดยเร็ว ระบุหาก ปตท.ขายก๊าซราคาถูกก็อาจจะไม่จำเป็นต้องนำเข้าเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (19 มิ.ย.) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.และ นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ร่วมลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวฉบับใหม่ (GLOBAL DCQ) อายุสัญญา 10 ปี (ก.ค.63-ก.ค.73) ในปริมาณซื้อขายก๊าซธรรมชาติ สูงสุด 736 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มูลค่าสัญญา 3.4 แสนล้านบาท ครอบคลุมโรงไฟฟ้าบางปะกง,พระนครใต้,พระนครเหนือ,วังน้อย และ จะนะ โดยสัญญาส่วนนี้ มีการเจรจากันอย่างยาวนาน หลังจากสัญญาระยะยาวฉบับเดิม ระหว่าง ปตท.และ กฟผ.ที่ซื้อขายก๊าซฯกันมาตั้งแต่ปี 24 สิ้นสุดสัญญาลงตั้งแต่ปี 58 หลังจากนั้นได้มีการขยายอายุสัญญาแบบปีต่อปีมาจนถึงปัจจุบัน โดยสัญญาล่าสุดได้หมดอายุเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.63
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า สัญญาระยะยาวดังกล่าว ได้ให้นโยบาย ให้ 2 หน่วยงานไปเจรจากัน เพื่อให้เป็นสัญญาระยะยาว เพื่อความมั่นคงของประเทศ ที่จะเกี่ยวเนื่องกับการผลิตก๊าซในอ่าวไทย อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯก็ได้ส่งเสริมการแข่งขันการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี ) เพื่อให้เกิดการนำเข้าในราคาต่ำที่สุด และทำให้เกิดผลดีต่อค่าไฟฟ้าของภาคประชาชน แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูเรื่องความมั่นคงควบคู่กันไปด้วย ซึ่งล่าสุดประเทศไทย มีผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าแอลเอ็นจีแล้ว 5 ราย ได้แก่ ปตท.,กฟผ.,กัลฟ์,หินกองเพาเวอร์ , กลุ่มบีกริม
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บีกริมพร้อมนำเข้าแอลเอ็นจีในอนาคต ซึ่งมีผู้พร้อมจำหน่ายในราคาต่ำหลายราย แต่หาก ปตท.ขายก๊าซฯ ได้ในราคาต่ำมาก บีกริมก็พร้อมจะซื้อจาก ปตท.โดยคงต้องดูราคาที่เหมาะสม ซึ่งหากได้ราคาก๊าซฯที่ต่ำ บีกริมก็จะขายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมในราคาต่ำ ซึ่งก็จะทำให้ประเทศสามารถแข่งขันได้
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานบอร์ด กฟผ.กล่าวว่า กระทรวงฯได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสม หลังจากที่มีผู้เสนอปรับโครงสร้างราคา เช่น ราคาอ้างอิงน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน เหมาะสมหรือไม่ เพราะ ซึ่งส่งผลให้ราคาก๊าซอ่าวไทย รวมทั้งราคาตลาดรวมหรือ POOL GAS (ราคาเฉลี่ยอ่าวไทย-เมียนมา และสัญญานำเข้าแอลเอ็นจีระยาว )อยู่ที่ประมาณ 7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู แพงกว่าราคาตลาดจรของแอลเอ็นจี ที่ราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งมีการประเมินกันว่า ราคาแอลเอ็นจีตลาดจรเช่นนี้ อาจจะเป็นราคาชั่วคราว และจากราคาน้ำมันที่ต่ำลง ก็อาจจะทำให้ราคาที่ผูกกับน้ำมันเป็นผลดีต่อค่าไฟฟ้าในอนาคต โดยให้ทุกฝ่ายไปประเมินผลดี ผลเสีย ว่าควรจะปรับโครงสร้างอย่างไรให้เหมาะสมแล้วนำมาเสนอเพื่อพิจารณาดำเนินการในการประชุมครั้งต่อไป
นายกุลิศ กล่าวว่า ในส่วนที่ บอร์ด กฟผ. ได้เห็นชอบแผนการจัดหา LNG ของ กฟผ. ระหว่างปี 2563 – 2565 โดยจะนำเข้าแอลเอ็นจี ในปริมาณ ปีละ 0.6 ล้านตัน , 1.9 ล้านตัน และ1.5 ล้านตัน ตามลำดับนั้น ก็อยู่ในระหว่างที่เสนอขอความเห็นชอบจาก กระทรวงพลังงาน ซึ่งการนำเข้าแอลเอ็นจีของ กฟผ.ก็เป็นไปตามการ รักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและบริหารจัดการต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งกำหนดเป็น 2 แนวทาง คือ การจัดซื้อระยะยาว โดยจัดซื้อจาก ปตท. ภายใต้สัญญาหลักซื้อขายก๊าซธรรมชาติ Global DCQ และการจัดซื้อระยะสั้น โดยจัดหา LNG เพิ่มเติมในส่วนที่เกินจากปริมาณตามข้อผูกพันในสัญญากับ ปตท. . – สำนักข่าวไทย