ราชบุรี 8 มิ.ย.-ชาวราชบุรีใช้ท่อพีวีซีทำ “ลัน” ดักปลาไหลตามทุ่งนาขาย รายได้เฉลี่ยครั้งละ 3 – 4 พันบาท
ครอบครัวหาปลาไหลตระเวนหาหนองน้ำดักปลาไหลขาย โดยนำท่อพลาสติกพีวีซี กว้าง 2 นิ้ว มาดัดแปลงเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 1 เมตร แล้วใช้แกลลอนน้ำมันตัดเป็นฝา ทำลิ้นในกระบอกไม่ให้ปลาไหลดันออกมา ใช้ไฟลนปิดท้ายให้ก้นติดกัน ลักษณะเดียวกับ “ลัน” ดักปลาไหลแบบโบราณ วิธีดักปลาไหลจะนำหอยเชอรี่ไปทุบให้แตก แล้วใส่ในกระบอกลัน นำไปวางตามที่ที่มีน้ำขัง เช่น ทุ่งนา พงหญ้า ซึ่งมีปลาไหลอาศัยอยู่ ยกด้านท้ายที่เจาะรูให้โผล่เหนือน้ำ เพื่อให้ปลาไหลได้กลิ่นหอยเชอรี่ แล้วมุดเข้าไปกินหอยในกระบอกลัน และไม่สามารถดันลิ้นฝาลันที่ยึดกับปากท่อพีวีซีออกมาได้ โดยจะวางลันไว้ 1 คืน พอเช้าวันรุ่งขึ้นก็ไปตรวจลันที่ดักไว้ หากมีน้ำหนักแสดงว่ามีปลาไหลติดอยู่
นางศรีชา น้อยเจริญ ชาวบ้านที่ยึดอาชีพหาปลาไหล เล่าว่า ก่อนหน้านี้ทำไร่สับปะรดและรับจ้างกรีดยาง แต่ด้วยเศรษฐกิจฝืดเคืองและเป็นช่วงโควิด จึงตระเวนหาปลาไหลขาย กก.ละ 180–200 บาท แต่รายได้ไม่แน่นอน ถ้าปลาติดเยอะก็ขายได้มาก ส่งขายที่นครปฐม เฉลี่ยครั้งละ 3-4 พันบาท ประมาณ 3 วัน จึงนำไปขาย 1 ครั้ง การสังเกตพื้นที่หาปลาไหลให้ดูลักษณะพื้นที่ที่มีน้ำไหล ถ้าจุดไหนน้ำน้อยจะไม่ค่อยเจอ เพราะปลาจะลงรูหมด ถ้าน้ำเยอะประมาณหัวเข่าขึ้นไป ก็ลงดักลันได้ แต่ต้องสังเกตว่ามีน้ำเสียหรือไม่ ถ้าน้ำเสียดำเหม็นลงไปก็ไม่ได้อะไร เพราะปลาไหลไม่อาศัยในน้ำเสียที่เป็นฟอง และต้องคอยระมัดระวังสัตว์มีพิษ เช่น งูจงอาง งูเห่าดอกจัน ที่จะเข้าไปกินหอยในกระบอกลันด้วย.-สำนักข่าวไทย