กรุงเทพฯ 27 พ.ค. – สศอ.เผยกำลังการผลิตถอยหลังลงคลอง อยู่ที่ 51.87% ตกต่ำสุดนับจากน้ำท่วมปี’54
นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ) เดือน เม.ย.2563 อยู่ที่ระดับ 79.04 หดตัว 17.21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 95.47 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกและไทยหยุดชะงัก ต่อเนื่องมายังการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม(ไม่รวมทอง ยุทโธปกรณ์ และอากาศยาน) หดตัว เพราะโรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนมีการหยุดการผลิตชั่วคราว เช่น กำลังการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 12.64% เป็นต้น ทำให้ภาพรวมอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 51.87% ต่ำสุดในรอบ 8 ปี 5 เดือนนับจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่เดือนพ.ย.2554 เทียบกับเดือนก่อนหน้า 67.78%
โดยเบื้องต้นประเมินแนวโน้มเอ็มพีไอไตรมาส 2/2563 จะลดลงกว่าปัจจุบัน เนื่องจากมีบางอุตสาหกรรมหยุดการผลิตชั่วคราว เช่น รถยนต์ เห็นได้จากไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.2563) หดตัว 6.36% และ 4 เดือนหดตัว 8.8% ขณะที่เอ็มพีไอในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ รัฐจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อีกเมื่อไหร่และมากแค่ไหน แม้ขณะนี้จะเริ่มมีการผ่อนคลายบ้างแล้วแต่สถานการณ์ต่างๆ ยังไม่กลับมาเต็มที่ 100% จึงยังไม่มีความชัดเจนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมก่อนที่จะเกิดโรคระบาดเมื่อไหร่ หลังจากนั้นจึงค่อยมาพูดถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจ จากที่ผ่านมากิจกรรมเศรษฐกิจถูกปิดทั้งหมด ช่องทางการจำหน่ายถูกปิด การบริโภคไม่เกิด
นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมโรคระบาดของประเทศต่างๆ ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งประเทศ หากประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยยังไม่สามารถควบคุมโรคระบาดได้ จะเป็นตัวแปรชี้วัดการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การจับจ่ายใช้สอยจะกลับมาสู่ภาวะปกติก่อนเกิดโควิด-19 ได้หรือไม่/เมื่อไหร่ หากประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ หมดแล้ว ประชาชนกลับมาทำงานได้จะสามารถมีรายได้และเงินออมกลับมาเหมือนก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 หรือไม่ แม้รัฐบาลจะมีเงินเยียวยาช่วยเหลือค่าครองชีพให้ในระดับหนึ่ง แต่ก็จำเป็นต้องนำเงินออมที่มีอยู่มาใช้ทั้งหมดหรือบางคนอาจติดลบไปแล้ว ดังนั้นรายได้ที่กลับมาเข้าสู่ภาวะปกตินั้นจะสามารถชดเชยเงินออมที่ใช้ไปในช่วงล็อกดาวน์แค่ไหน ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่าการจับจ่ายใช้สอยและเศรษฐกิจไม่น่าจะกลับมาเป็นปกติได้เร็วไปกว่าเดือนก.ย.2563 เป็นปัจจัยชี้วัดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
“ภาพรวมอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ ของรัฐบาลจะผ่อนคลายมากแค่ไหน เพราะการล็อกดาวน์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่อนคลายถูกปิดลง หากระดับการผ่อนคลายมากพอที่จะทำให้การบริโภคกลับมาขยายตัวได้เต็มที่ ประกอบกับภาวะการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมไทยจะกลับมาได้เร็วแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ของต่างประเทศเป็นหลัก”
ทั้งนี้ สศอ.ยังคงติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มาตรการควบคุมสถานการณ์ และมาตรการเยียวยาบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เพราะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและเติบโตของพืช สร้างความเสียหายต่อผลผลิตต่อไร่ลดลง ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบเกษตรได้
นายอิทธิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สศอ.ยังมีความเป็นห่วงผู้ประกอบการผลิตภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าอาจยากกว่าการควบคุมโรคระบาด โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ สศอ. มีความเป็นห่วงว่ายังเกิดปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนของธุรกิจได้
อย่างไรก็ตาม จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน ทำให้การขนส่งสินค้าทั้งในและระหว่างประเทศสามารถกลับมาส่งสินค้าได้ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น บางอุตสาหกรรมจึงมีการขยายตัว เช่น อาหารขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.5% เป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและอาหารสัตว์ที่ได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศจีนและสหรัฐ เป็นต้น . – สำนักข่าวไทย