“รื่นวดี” แจงชัด “ฟื้นฟูกิจการ-ล้มละลาย” ถนนคนละเส้น

กทม. 18 พ.ค.-“รื่นวดี สุวรรณมงคล” เขียนบทความอธิบายละเอียด เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ ถึงความหมายและประโยชน์ ใครสามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการได้บ้าง ย้ำชัดการฟื้นฟูกิจการไม่ใช่การล้มละลาย แต่เป็นการรักษาให้กิจการยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ Win-Win ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ผู้ถือหุ้น และสังคม


เฟซบุ๊ก สำนักงาน กลต. ได้เผยแพร่บทความเรื่อง การฟื้นฟูกิจการกับการล้มละลาย-ถนนคนละเส้นคนละสาย ของ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม (ก.ค.57-เม.ย. 62)

ไม่กี่วันที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงได้ยินคำว่า “การฟื้นฟูกิจการ” (Reorganization) ตามกฎหมายล้มละลาย แล้วอาจมีคำถามว่า การฟื้นฟูกิจการ มีความหมายและประโยชน์อย่างไร ใครสามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการได้บ้าง และที่สำคัญ การฟื้นฟูกิจการคือการล้มละลายหรือไม่ ในฐานะที่เคยเป็นอดีตเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี และทำงานที่กรมบังคับคดีมาเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย ที่ได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน ตามที่ได้รับโอกาสให้ทำหน้าที่ดังกล่าว


ก่อนที่จะลงรายละเอียด จะขอกล่าวให้ชัดเจนตั้งแต่ย่อหน้าแรกนี้เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันเลยว่า การฟื้นฟูกิจการไม่ใช่การล้มละลายหรือการที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ สิ่งที่ทำให้หลาย ๆ ท่านอาจเข้าใจว่า การฟื้นฟูกิจการคือการล้มละลาย คิดว่า คงเป็นเพราะบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการ กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย จึงอาจทำให้บางท่านเข้าใจว่า การยื่นขอฟื้นฟูกิจการคือการยื่นขอล้มละลาย ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่หลายคนคงได้ยินคำว่า Chapter 11 การฟื้นฟูกิจการ ก็บัญญัติไว้ในกฎหมายล้มละลายเช่นเดียวกัน ดังนั้น การฟื้นฟูกิจการกับการล้มละลาย เป็นถนนคนละเส้นคนละสาย อย่างแน่นอน การฟื้นฟูกิจการถือเป็นการรักษาให้กิจการยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ หรือพูดง่าย ๆ ว่า ผู้ยื่นขอให้มีการฟื้นฟูกิจการต้องการรักษาความเป็นกิจการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง (going concern) จะเปิดโอกาสให้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลายทั้งเจ้าหนี้ภายในและต่างประเทศ และที่ขาดไม่ได้คือ จะเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนธุรกิจ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาจมีผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกบริษัทมาร่วมดำเนินการ ในขณะที่ การล้มละลายหรือการถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น จะไม่ได้เป็นการทำให้ธุรกิจดำเนินการได้ต่อเนื่อง แต่เป็นการมุ่งไปสู่กระบวนการค้นหาและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำมาแบ่งให้กับเจ้าหนี้ โดยการยึดหรืออายัดและนำมาขายทอดตลาด และในขณะที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี จะเป็นผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

• การฟื้นฟูกิจการ เกิดขึ้นได้อย่างไร?


การฟื้นฟูกิจการจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการไปยังศาลล้มละลายกลาง คือ กฎหมายกำหนดให้ทั้งเจ้าหนี้หรือลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ เมื่อเข้าเงื่อนไขดังนี้ คือ (1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือลูกหนี้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ (inability to pay) (2) เป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ในกรณีของธุรกิจขนาดใหญ่ หรือในกรณีที่เป็นธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) คือลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท ลูกหนี้ที่เป็นคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท หรือลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจำกัดไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท (3) หนี้จำนวนแน่นอนดังกล่าว จะถึงกำหนดชำระในทันทีหรือในอนาคตก็ได้ และ (4) มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

จะเห็นได้ว่า การยื่นขอฟื้นฟูกิจการของไทยตามที่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงในปี 2559 ถือเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเข้าไปฟื้นฟูกิจการเพื่อรักษาความอยู่รอดของธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม คือ เมื่อพบว่าลูกหนี้ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ เช่นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด และเมื่อได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้ หรือลูกหนี้มีกระแสเงินสดไม่พอชำระหนี้ เป็นต้น เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ก็สามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลได้ โดยไม่ต้องรอจนถึงกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแบบเดิม ซึ่งหลักการที่แก้ไขปรับปรุงใหม่นี้ถือว่าสอดคล้องกับหลักสากล จึงเป็นการเปิดโอกาสเป็นครั้งแรกให้ธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) สามารถยื่นขอฟื้นฟูกิจการได้เช่นเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ อันเป็นการช่วยรักษาธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) ไม่ให้ถูกฟ้องล้มละลายแบบเดิม และที่สำคัญ จะช่วยรักษาการจ้างแรงงานของธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีการจ้างแรงงานกว่า 12 ล้านราย และในปี 2561 ได้ปรับปรุงการยื่นขอฟื้นฟูกิจการบริษัทขนาดใหญ่ โดยเพิ่มเงื่อนไขในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการให้มีกรณีไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ เงื่อนไขของการพิจารณาให้มีการฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ นอกจากการมีหนี้สินจำนวนแน่นอนแล้ว เงื่อนไขที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ต้องมีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้

• กระบวนการบริหารจัดการภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการ

จุดนี้ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูกิจการ คือ เมื่อศาลสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการ สภาวะการพักการชำระหนี้หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า automatic stay เกิดขึ้นทันทีนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอหรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด

สภาวะการพักการชำระหนี้ นี้เอง ที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้และเป็นจุดแข็ง ทั้งนี้ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการไปต่อได้และดูแลสภาพคล่อง (liquidity) ของธุรกิจ โดยไม่ต้องกังวลว่าธุรกิจหรือกิจการจะถูกเรียกให้ชำระหนี้หรือถูกฟ้องร้อง สภาวะการพักการชำระหนี้ หากกล่าวให้เห็นภาพ เสมือนหนึ่งธุรกิจหรือกิจการจะอยู่ภายใต้ร่มคันใหญ่ที่จะป้องกันการถูกฟ้องร้อง ถูกบังคับคดี ถูกบังคับชำระหนี้ ถูกงดให้บริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ประโยชน์ข้างต้นที่ลูกหนี้จะได้รับ ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ได้อาศัยการพักชำระหนี้เป็นเหตุของการประวิงคดี ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ผู้ที่มาพึ่งศาล จะต้องมาศาลด้วยมือสะอาด” (He who comes to equity must come with clean hands)

สำหรับหน้าที่ของลูกหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีอย่างไรนั้น กฎหมายก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าลูกหนี้ยังสามารถประกอบธุรกิจตามที่จำเป็นของธุรกิจเท่านั้น เพื่อให้การดำเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ดังนั้น ลูกหนี้จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

• ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน คือใคร?

ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและบริหารกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้ทำแผน หมายถึง ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยจะเป็นผู้ที่ศาลมีคำสั่งตั้งเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ตกแก่ผู้ทำแผน ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล

ผู้ทำแผนต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎกระทรวงว่าด้วยการจดทะเบียนและการกำหนดคุณสมบัติผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ โดยต้องมีประสบการณ์ในการรับจัดกิจการและทรัพย์สินของผู้อื่น มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หรือที่ปรึกษาทางบัญชี หรือที่ปรึกษาทางกฎหมาย ผู้บริหารของนิติบุคคลต้องมีจริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานที่รัดกุมและเชื่อถือได้ ทั้งนี้ ลูกหนี้อาจขอเป็นผู้ทำแผนเองก็ได้

ในการเสนอผู้ทำแผน กฎหมายกำหนดให้ทั้งลูกหนี้หรือเจ้าหนี้สามารถเสนอผู้ทำแผนได้ ซึ่งหากศาลเห็นว่าผู้ที่เสนอเป็นผู้ทำแผนยังไม่สมควรเป็นผู้ทำแผน หรือมีการคัดค้าน ศาลจะสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดประชุมเจ้าหนี้โดยเร็ว เพื่อให้เจ้าหนี้ได้ลงมติในการเลือกผู้ทำแผน และเมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้เลือกผู้ทำแผนได้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องรายงานศาลทราบเพื่อพิจารณามีคำสั่งต่อไป

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า หากยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ กฎหมายกำหนดให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารของลูกหนี้สิ้นสุดลง และให้ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลใดหรือหลายคนหรือผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราว โดยมีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป ทั้งนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทำแผน

ผู้บริหารแผน หมายถึงผู้จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ กฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ทำนองเดียวกับผู้ทำแผน เว้นแต่วัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ กำหนดให้เป็นที่ปรึกษาทางด้านการบริหารงาน

กฎหมายกำหนดให้สิทธิและอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนโอนไปยังผู้บริหารแผน ตั้งแต่วันที่ผู้บริหารแผนได้รับทราบคำสั่งศาลที่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการที่เป็นความตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เป็นแผนฟื้นฟูกิจการที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผน และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว โดยกฎหมายกำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการมีรายละเอียดต่าง ๆ โดยเฉพาะหลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ อันประกอบด้วย ขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ การชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลง และการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ การลดทุนและเพิ่มทุน การก่อหนี้และระดมเงินทุน แหล่งเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุน การจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้ และเงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลและประโยชน์อื่นใด รวมทั้งแนวทางแก้ปัญหาในกรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างการปฏิบัติตามแผน

ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

Win-Win ทุกฝ่าย คือ การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เห็นว่า จะเป็น win-win ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ถือหุ้น รวมทั้งสังคมด้วย เพราะยังสามารถรักษากิจการให้ดำเนินการได้ตามปกติอย่างต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงต่อการถูกเลิกกิจการ และการถูกฟ้องล้มละลาย อันจะช่วยรักษาการจ้างงานและห่วงโซ่อุปทานต่าง ๆ ไว้ได้ และที่สำคัญ การฟื้นฟูกิจการจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มากกว่าการล้มละลาย นอกจากนี้ การฟื้นฟูกิจการจะเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถปรับโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนการดำเนินธุรกิจด้วย

สำหรับสิทธิของเจ้าหนี้ กฎหมายกำหนดให้สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ซึ่งต่างกับการล้มละลายที่เจ้าหนี้ทุกรายจะได้รับส่วนเฉลี่ยในการชำระหนี้เท่ากัน

กิจการภายหลังจากการเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้จะกลับมาบริหารจัดการกิจการได้หรือไม่

การเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการเปรียบเสมือนคนไข้ที่มีอาการป่วยเข้ารับการรักษาตัวเพื่อดูแลรักษาให้หายจากการเจ็บป่วย โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ภายหลังจากนั้น เมื่อคนไข้หายป่วยและมีร่างกายที่แข็งแรงและทำอะไรได้ตามปกติ ที่ผ่านมา มีบริษัทหลายบริษัทที่เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ และเมื่อการฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จ ก็กลับมาเป็นบริษัทที่มีความเข้มแข็งและมีการเติบโต ทำนอง “ฟ้าหลังฝน” เมื่อศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ในกรณีที่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน ผู้บริหารของลูกหนี้จะกลับมามีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามเดิม และผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไป

การฟื้นฟูกิจการจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของธุรกิจที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง แต่มีเหตุผลความจำเป็นและมีช่องทางในการดำเนินธุรกิจต่อไป.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ฆ่าตัดนิ้วชิงทรัพย์

เร่งล่าฆาตกรโหดตัดนิ้วชิงทรัพย์หญิงวัย 67 ทิ้งศพกลางสวนปาล์ม

ตำรวจเร่งล่าฆาตกรโหดฆ่าตัดนิ้วหญิงวัย 67 ปี ชิงทรัพย์ ก่อนทิ้งศพกลางสวนปาล์ม อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ชาวบ้านเผยพบรถเก๋งต้องสงสัยสีขาววิ่งเข้าไปในจุดพบศพ

จับนายก อบต.นาบัว

คอมมานโดบุกจับนายก อบต.นาบัว-พวก รวม 16 คน

คอมมานโดกองปราบฯ บุกจับฟ้าผ่า! นายก อบต.นาบัว อ.นครไทย ประธาน “ธนาคารหมู่บ้าน” พร้อมพวก รวม 16 คน ฐานร่วมกันฉ้อโกงและร่วมกันกู้ยืมเงิน มูลค่าความเสียหายนับร้อยล้านบาท

New Zealanders march towards Wellington to protest Indigenous treaty bill

ชาวเมารีเต้นฮากาประท้วงร่าง กม.นิวซีแลนด์

เวลลิงตัน 15 พ.ย.- ผู้คนในหลายเมืองทั่วนิวซีแลนด์เข้าร่วมการเดินขบวนมุ่งหน้าไปยังกรุงเวลลิงตัน เพื่อประท้วงร่างกฎหมายลิดรอนสิทธิของชนพื้นเมือง โดยมีการเต้นฮากาที่เป็นวัฒนธรรมของชาวเมารีในระหว่างการประท้วงด้วย รัฐสภานิวซีแลนด์ผ่านความเห็นชอบในเบื้องต้นเมื่อวานนี้ เรื่องการตีความใหม่สนธิสัญญาอายุ 184 ปี ที่มกุฎราชกุมารอังกฤษกับหัวหน้าชาวเมารีมากกว่า 500 คนลงนามในปี พ.ศ.2383 กำหนดเรื่องการปกครองนิวซีแลนด์ร่วมกัน ซึ่งเป็นแนวทางในการออกกฎหมายและนโยบายของประเทศมาจนถึงปัจจุบัน ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงตามเมืองต่าง ๆ ทั่วนิวซีแลนด์ โดยมีการจัดเดินขบวนเป็นเวลา 9 วันมุ่งไปยังกรุงเวลลิงตัน คาดว่าขบวนจะถึงเมืองหลวงในวันที่ 19 พฤศจิกายน ตำรวจแถลงวันนี้ว่า มีคนประมาณ 10,000 คน เข้าร่วมการเดินขบวนในเมืองโรโตรัว ห่างจากกรุงเวลลิงตันไปทางเหนือราว 450 กิโลเมตร ผู้ประท้วงแต่งกายในชุดชนพื้นเมือง มีการเต้นฮากาที่เป็นวัฒนธรรมของชาวเมารี โดยได้รับการต้อนรับจากคนจำนวนมากที่มาโบกธงเมารีและร่วมร้องเพลง.-814.-สำนักข่าวไทย

ข่าวแนะนำ

อุตุฯ เผยไทยตอนบนอุณหภูมิลดลงเล็กน้อย-ลมแรง

กรมอุตุฯ เผยประเทศไทยตอนบน อุณหภูมิลดลงเล็กน้อยกับมีลมแรง และอากาศเย็นในตอนเช้าในภาคเหนือ ภาคอีสาน โดยมีฝนบางแห่งในด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อยกับมีลมแรง

ลิงลพบุรีแหกกรง กว่า 200 ตัว จ่าฝูงนำทีมบุกโรงพัก

ลิงลพบุรีกรงแตก เพ่นพ่านกว่า 200 ตัว จ่าฝูงนำทีมบุกโรงพักท่าหิน ตำรวจปิดประตูหน้าต่างวุ่น ล่าสุดกลับมากินอาหารในกรงแล้วกว่า 100 ตัว กรมอุทยานฯ เร่งลุยจับ คาดใช้เวลา 2-3 วัน

มนุษย์ ภัยคุกคามพะยูน ?

ช่วงนี้พบพะยูนในทะเลฝั่งอันดามันตายเพิ่มขึ้นแบบถี่ยิบ จนน่าเป็นห่วงว่าพะยูนอาจสูญพันธุ์ไปในอนาคต โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อมีการพบพะยูนตายในทะเลภูเก็ต อยู่ในสภาพถูกตัดหัว คาดนักล่าหวังเอาเขี้ยว

typhoon Man-Yi barrels through the Philippines

ซูเปอร์ไต้ฝุ่น “หม่านหยี่” เข้าฟิลิปปินส์

มะนิลา 17 พ.ย.- ซูเปอร์ไต้ฝุ่นหม่านหยี่ พัดเข้าเกาะลูซอนที่เป็นเกาะหลักและมีประชากรอยู่หนาแน่นที่สุดของฟิลิปปินส์แล้วในวันนี้ เสี่ยงทำให้เกิดฝนตกหนักในกรุงมะนิลาที่เป็นเมืองหลวง หม่านหยี่ เป็นภาษาจีนกวางตุ้ง เป็นชื่อของอ่างเก็บน้ำในฮ่องกง นับเป็นพายุลูกที่ 6 ที่พัดเข้าฟิลิปปินส์ในรอบ 1 เดือน มีความเร็วลม 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อ่อนกำลังลงเล็กน้อยหลังจากขึ้นฝั่งเมืองปางานีบัน จังหวัดคาตันดัวเนส ที่เป็นเกาะขนาดเล็ก เมื่อคืนวันเสาร์ ข้ามมาจนถึงจังหวัดคามารีเนส นอร์เต บนเกาะลูซอน ในเช้าวันนี้ ไต้ฝุ่นลูกนี้มีแนวโน้มจะทำให้เกิดฝนตกหนักทั่วเขตมหานครมะนิลา ซึ่งมีการอพยพประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงแล้วกว่า 1 ล้านคน แต่ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แม้ว่ากระแสลมแรงได้สร้างความเสียหายให้แก่สิ่งปลูกสร้างในจังหวัดคาตันดัวเนสก็ตาม.-820(814).-สำนักข่าวไทย